สุภิญญา เปิดความเห็นต่าง กรณี รายงานความผิดออกอากาศรายการสถานี Peace TV

เปิดความเห็นต่าง กรณี รายงานความผิดออกอากาศรายการสถานี Peace TV

ในการประชุม กสท. ครั้งที่ ๑๒/๒๕๕๘ วันจันทร์ที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๕๘ ได้มีการประชุมพิจารณาในหลายวาระ นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ ได้มีความเห็นต่างและข้อสังเกตในการพิจารณาวาระที่ ๔.๑๙ รายงานความผิดการออกอากาศรายการทางสถานี PEACE TV ดังนี้

“ดิฉันไม่เห็นชอบกับมติคณะอนุกรรมการด้านผังรายการและเนื้อหารายการ ที่เห็นว่า การออกอากาศรายการมองไกล, รายการคิดรอบด้าน, รายการเดินหน้าต่อไป และรายการเข้าใจตรงกันนะ ในช่องรายการโทรทัศน์ PEACE TV ของบริษัท พีซ เทเลวิชั่น จำกัด ตามที่คณะทำงานติดตามสื่อในกองทัพบกร้องเรียนนั้น

มีลักษณะเป็นการให้ข้อมูลข่าวสารที่ก่อให้เกิดความสับสน ยั่วยุ ปลุกปั่นให้เกิดความขัดแย้งหรือสร้างให้เกิดความแตกแยกในราชอาณาจักรและไม่เห็นชอบกับการกำหนดโทษปรับทางปกครองเป็นการพักใช้ใบอนุญาตของบริษัท พีซ เทเลวิชั่น  จำกัด โดยมีเหตุผลดังต่อไปนี้

๑.      ดิฉันเห็นว่า เป็นการยากที่จะพิจารณาว่า เนื้อหาที่ออกอากาศนั้นขัดต่อมาตรา ๓๗ แห่ง พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. ๒๕๕๑ หรือบันทึกข้อตกลงระหว่างสำนักงาน กสทช. และผู้รับใบอนุญาต เนื่องจากเนื้อหาที่นำเสนอเป็นการวิพากษ์วิจารณ์ทางการเมืองที่สื่อพึงกระทำได้ แม้จะมีลักษณะเลือกข้างทางการเมืองหรือวิจารณ์ด้านเดียว หรือใช้ภาษาที่เสียดสี กระทบบุคคลแต่ยังไม่ถึงขั้นสร้างความเกลียดชังหรือยั่วยุให้เกิดความรุนแรงหรือละเมิดสิทธิผู้อื่น  รวมทั้งยังไม่ได้กระทบความมั่นคงของรัฐ ดังนั้นเพื่อให้การใช้ดุลพินิจของกรรมการ กสท. เป็นไปด้วยความรอบคอบ ไม่เลือกปฏิบัติหรือทึกทักไปล่วงหน้าว่า การวิจารณ์การทำงานของคณะรัฐมนตรี คณะรักษาความสงบแห่งชาติ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สภาปฏิรูปแห่งชาติ เป็นการสร้างผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ดิฉันจึงเสนอว่า สำนักงานควรมีแนวปฏิบัติหรือขอบเขตที่ชัดเจนในเรื่องรูปแบบหรือลักษณะการนำเสนอเนื้อหาที่สร้างความเกลียดชัง หรือยั่วยุปลุกปั่น เพื่อให้กรรมการมีหลักเกณฑ์ในการใช้ดุลพินิจกับผู้รับใบอนุญาตทุกรายอย่างเท่าเทียมและถ้วนหน้า

๒.      มติของคณะอนุกรรมการฯ ที่เสนอให้กำหนดโทษทางปกครองด้วยการพักใช้ใบอนุญาตนั้น อาจเข้าข่ายเป็นการลงโทษเกินกว่าเหตุได้ ทั้งนี้หากเห็นว่าเนื้อหาที่ออกอากาศขัดต่อกฎหมาย ควรพิจารณาระงับการออกอากาศเฉพาะรายการแทนการพักใช้ใบอนุญาตทั้งสถานี

๓.      ในการพิจารณาเนื้อหาต้องห้ามในการออกอากาศนั้น  กรรมการ กสท. ควรพิจารณาตามมาตรา ๓๗ แห่ง พ.ร.บ. การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. ๒๕๕๑
เป็นหลักเกณฑ์สำคัญ แทนที่จะเป็นการพิจารณาตามประกาศ คสช. เช่นเดียวกับการพิจารณาโทษทางปกครอง ควรดำเนินการตามขั้นตอนตามลำดับ ได้แก่ การตักเตือนเป็นลายลักษณ์อักษร การกำหนดโทษปรับทางปกครอง การมีคำสั่งให้กระทำการหรืองดเว้นกระทำการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำความผิดซ้ำอีก และการมีคำสั่งให้พักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาต

——————————

รวมทั้ง ในการประชุม กสท. ครั้งที่ ๑๔/๒๕๕๘ วันจันทร์ที่ ๒๗ เมษายน ๒๕๕๘ นางสาวสุภิญญา ได้มีความเห็นต่างและข้อสังเกต ต่อ วาระที่ ๔.๑๘ ข้อร้องเรียนต่อการออกอากาศมองไกล ช่องรายการ พีซ ทีวี ดังนี้

“ดิฉันขอสงวนความเห็นในการพิจารณาวาระนี้เนื่องจากไม่เห็นชอบมติ กสท. ที่กำหนดโทษทางปกครองให้เพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ เพื่อให้บริการโทรทัศน์ ช่องรายการ PEACE TV โดยมีเหตุผลดังนี้

๑.    ขั้นตอนการรวบรวมข้อเท็จจริงและการเสนอความเห็นต่อคณะกรรมการ ดิฉันเห็นว่า สำนักงานฯ ควรดำเนินการตาม ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการรวบรวมข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำความผิดในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ที่มีโทษทางปกครอง พ.ศ.๒๕๕๖ ทั้งนี้รวมถึงการแจ้งให้ผู้ถูกร้องเรียนทราบและให้ชี้แจงข้อเท็จจริงและแสดงพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องภายในระยะเวลาอันสมควรแต่ไม่เกินสิบห้าวัน

ตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑๒.๑ ของประกาศฉบับดังกล่าว ซึ่งในกรณีที่เกิดขึ้นต่อข้อร้องเรียนนี้ สำนักงานฯ ได้รับหนังสือจากคณะทำงานติดตามสื่อ ในกรมการทหารสื่อสาร ลงวันที่ ๒๒ เมษายน ๒๕๕๘ และนำเข้าสู่การพิจารณาในที่ประชุม กสท.ครั้งที่ ๑๔/๒๕๕๘ เมื่อวันจันทร์ที่ ๒๗ เมษายน ๒๕๕๘ โดยไม่ผ่านการพิจารณาตามขั้นตอนการรวบรวมข้อเท็จจริงแต่อย่างใด

๑.    สืบเนื่องจากความเป็นมาของข้อร้องเรียนข้างต้น การนำเสนอในระเบียบวาระที่เสนอโดยสำนักกฎหมายกระจายเสียงและโทรทัศน์มิได้มีการนำเสนอข้อมูลรายละเอียดโดยการถอดเทปเนื้อหารายการที่ออกอากาศอย่างชัดแจ้งดังที่เคยมีการพิจารณาในวาระใกล้เคียงกรณีอื่นๆ ที่นำเสนอโดยสำนักกำกับผังและเนื้อหารายการและพัฒนาผู้ประกาศในกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ ทั้งนี้มีเพียงข้อพิจารณาเบื้องต้นของสำนักงานฯ ที่เห็นว่า การออกอากาศรายการดังกล่าว มีสาระสำคัญเกี่ยวกับการให้ข้อมูลเกี่ยวกับผู้ก่อเหตุวางระเบิดที่เกาะสมุย และการวางเพลิงที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ว่า เป็นการกระทำเพื่อสร้างกระแสของผู้มีอิทธิพลในท้องที่ รวมถึงการนำข้อความของบุคคลที่มีความเกี่ยวข้องกับรัฐบาลซึ่งเผยแพร่ในสื่อออนไลน์มาวิพากษ์วิจารณ์

ดิฉันจึงเห็นว่าที่ประชุมควรแสวงหาพยานหลักฐานเพื่อให้การพิจารณาเป็นไปด้วยความครบถ้วนรอบด้านตามนัยมาตรา ๒๙ แห่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.๒๕๓๙ ซึ่งกำหนดว่า เจ้าหน้าที่ต้องพิจารณาพยานหลักฐานที่เห็นว่า จำเป็นแก่การพิสูจน์ข้อเท็จจริง

ดังนั้น การที่ที่ประชุมพิจารณาพยานหลักฐานผ่านเทปบันทึกรายการฯ เพียงบางส่วนหรือบางช่วงของรายการเท่านั้น อีกทั้งมิได้มีการถอดเทปเนื้อหารายการเพื่อประกอบการพิจารณาอย่างครบถ้วน  รวมทั้งหากที่ประชุมเห็นว่า เป็นกรณีที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงก็ย่อมต้องแสวงหาข้อเท็จจริงจากพยานบุคคลหรือพยานผู้เชี่ยวชาญซึ่งสามารถยืนยันถึงส่วนหนึ่งส่วนใดของสาระรายการว่าจะก่อให้เกิดผลเช่นว่าได้  ด้วยเหตุผลตามที่กล่าวมาข้างต้น ดิฉันจึงมิอาจใช้ดุลพินิจพิจารณาถึงความผิดตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ได้

๒.    ในกระบวนการพิจารณาออกคำสั่งทางปกครองที่ชอบด้วยกฎหมาย สำนักงานฯ ต้องเตรียมการอย่างครบถ้วนเพื่อจัดให้ที่ประชุมมีคำสั่งทางปกครอง โดยเฉพาะขั้นตอนตามบทบัญญัติมาตรา ๓๐ แห่งพ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.๒๕๓๙ ซึ่งกำหนดว่า ในกรณีที่คำสั่งทางปกครองอาจกระทบถึงสิทธิของคู่กรณี เจ้าหน้าที่ต้องให้คู่กรณีมีโอกาสที่จะได้ทราบข้อเท็จจริงอย่างเพียงพอและมีโอกาสได้โต้แย้งและแสดงพยานหลักฐานของตน เว้นแต่เป็นกรณีที่เข้าเงื่อนไขยกเว้น หากเห็นว่าจะก่อให้เกิดผลเสียหายร้ายแรงต่อประโยชน์สาธารณะ ซึ่งดิฉันเห็นว่า กรณีการออกอากาศรายการ “มองไกล” ทางช่องรายการพีซ ทีวี เมื่อวันที่ ๑๘ เมษายน ๒๕๕๘ นั้น มิได้เป็นกรณีที่จะก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือจะกระทบต่อประโยชน์สาธารณะซึ่งมีความจำเป็นรีบด่วน ตลอดจนมิได้เข้าเงื่อนไขอันเป็นข้อยกเว้นดังกล่าวแต่ประการใด ดังนั้นจึงควรจัดให้คู่กรณีมีโอกาสที่จะได้รับทราบข้อเท็จจริงอย่างเพียงพอและมีโอกาสได้โต้แย้งและแสดงพยานหลักฐานของตนเสียก่อน

อย่างไรก็ตาม ดิฉันเห็นว่า การพิจารณาเนื้อหาต้องห้ามในการออกอากาศนั้น ควรพิจารณาตามมาตรา ๓๗ แห่งพ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. ๒๕๕๑ เป็นหลักเกณฑ์เบื้องต้น ทั้งนี้สำหรับการนำเสนอเนื้อหารายการที่เป็นการให้ร้ายบุคคลบางคนหรือบางกลุ่มว่าเกี่ยวข้องกับการก่อเหตุวางระเบิดที่เกาะสมุย หรือการวางเพลิงที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ในลักษณะเช่นนี้ อาจถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

ของผู้ถูกกล่าวหา ซึ่งในด้านหนึ่งถือเป็นจรรยาบรรณของผู้ดำเนินรายการหรือผู้สื่อข่าวที่จำเป็นต้องรักษาสิทธิของผู้ต้องสงสัยที่อยู่ในระหว่างกระบวนการพิจารณาคดีตามกฎหมายตามหลักที่ให้สันนิษฐานว่าบุคคลบริสุทธิ์จนกว่าจะได้รับการพิสูจน์โดยปราศจากข้อสงสัยว่ามีความผิด (Presumption of innocence until proven guilty beyond a reasonable doubt) ดังนั้นการพิจารณาโทษทางปกครองควรคำนึงถึงหลักความได้สัดส่วนและดำเนินการตามลำดับขั้นตอน เช่น การพิจารณาโทษปรับทางปกครอง หรือ หากเห็นว่าเนื้อหาที่ออกอากาศขัดต่อกฎหมาย ควรพิจารณาระงับการออกอากาศเฉพาะรายการแทนการเพิกถอนใบอนุญาตทั้งสถานี

๑.    นอกจากนี้ สำนักงานควรมีแนวปฏิบัติหรือขอบเขตที่ชัดเจนในเรื่องรูปแบบหรือลักษณะการนำเสนอเนื้อหาที่สร้างความเกลียดชัง หรือยั่วยุปลุกปั่น เพื่อให้กรรมการมีหลักเกณฑ์ในการใช้ดุลพินิจกับผู้รับใบอนุญาตทุกรายอย่างเท่าเทียมและถ้วนหน้าโดยไม่ทึกทักไปล่วงหน้าว่า การวิจารณ์การทำงานของคณะรัฐมนตรี คณะรักษาความสงบแห่งชาติ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สภาปฏิรูปแห่งชาติ ตลอดจนการแสดงความคิดเห็นต่อการร่างรัฐธรรมนูญเป็นสร้างผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ”

และวาระอื่นๆ รายละเอียด ดังนี้

ความเห็นเพิ่มเติมและคำสงวนการประชุม กสท. ครั้งที่ ๑๒/๒๕๕๘ วันจันทร์ที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๕๘ 

Download (-กสท.-ครั้งที่-๑๒-๒๕๕๘-วันจันทร์ที่-๓๐-มีนาคม-๒๕๕๘.pdf,PDF, Unknown)

ความเห็นเพิ่มเติมและคำสงวนการประชุม กสท. ครั้งที่ ๑๔/๒๕๕๘ วันจันทร์ที่ ๒๗ เมษายน ๒๕๕๘

Download (-กสท.ครั้งที่-๑๔-๒๕๕๘-วันจันทร์ที่-๒๗-เมษายน-๒๕๕๘.pdf,PDF, Unknown)