อย่างไรก็ตามแนวทางวิธีการคิดค่าธรรมเนียมและลดหย่อนจะต้องผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นก่อนบังคับใช้ต่อไป

12 – 06 – 58

Summary of my 3 meetings on Friday: draft regulation for NBTC Fund’s fee for R&D, Roadmap for Analog Switch Off, meeting with NBTC’s Funding Panel. So hectic. Call it a week.

สรุปงานวันนี้มี 3 ประชุมภายใน อันดับแรกคือหารือกับ สนง.เรื่องการร่างแนวปฏิบัติการเก็บค่าธรรมเนียม 2เปอร์เซ็นต์ เข้ากองทุนวิจัยและพัฒนาฯ รวมทั้งแนวทางการลดหย่อน

นอกจากค่าธรรมเนียมใบอนุญาต 2 เปอร์เซ็นต์ที่ต้องจ่ายให้ กสทช. แล้วผู้ประกอบการต้องจ่ายอีก 2 เปอร์เซ็นต์เข้ากองทุนวิจัยและพัฒนาฯตามกฎหมาย กสทช. ซึ่งคนละก้อนกับเงินค่าประมูลคลื่นความถี่ที่ต้องส่งเข้าคลัง

เท่าที่หารือนอกรอบ แนวทางการลดหย่อนค่าธรรมเนียมเข้ากองทุนฯ ให้กับผู้รับใบอนุญาต จะเน้นไปที่เงื่อนไขของทุกรายที่ร่วมแชร์ต้นทุนในการ Must carry ช่องดิจิตอล ไม่ว่าจะฝั่งฟรีทีวีภาคพื้นดินและดาวเทียม รวมทั้งฝั่งเคเบิลระบบอนาล็อก ที่ลงทุนปรับเปลี่ยนอุปกรณ์จากอะนาล็อกเป็นดิจิตอล ก็อาจใช้เป็นเงื่อนไขในการลดหย่อนค่าธรรมเนียมเข้ากองทุนได้

อย่างไรก็ตามแนวทาง อัตรา และวิธีการคิดค่าธรรมเนียมและการลดหย่อนจะต้องผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นก่อนบังคับใช้ต่อไป

พูดถึงเรื่องค่าธรรมเนียมใบอนุญาต 2 เปอร์เซ็นต์ วันนี้ก็มีข่าวใหญ่ว่าคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความว่าช่องฟรีทีวีในระบบอะนาล็อกเดิม ไม่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมให้ กสทช. เพราะได้รับการคุ้มครองตาม พรบ.ประกอบกิจการฯ เรื่องนี้เป็นประเด็นใหญ่ เพราะถ้าช่องฟรีทีวีอะนาล็อกเดิมได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียม 2 เปอร์เซ็นต์จากรายได้ที่ต้องจ่ายให้ กสทช. ดังกล่าว ก็จะเป็นการลดต้นทุนลงไปได้จำนวนมาก

ในขณะที่ผู้รับใบอนุญาตอื่นๆทั้งหมดซึ่งถือเป็นรายใหม่ ไม่ว่าจะเป็นเคเบิล ดาวเทียม ฟรีทีวีดิจิตอล จะต้องจ่ายค่าธรรมใบอนุญาตให้ กสทช. เต็มอัตรา  ผลคือรายเล็กเพิ่มรายจ่าย แต่รายใหญ่ลดต้นทุน

เนื่องจากรายได้รวมของช่องอะนาล็อกเดิม โดยเฉพาะช่อง 3-7-9 นั้นถือว่าสูงมาก การลดต้นทุนที่ต้องจ่ายให้รัฐไปร้อยละ 2 ก็จะประหยัดต้นทุนช่องไปได้มาก

ส่วนตัวคงต้องขออ่านคำตีความของคณะกรรมการกฤษฎีกาก่อนว่าวินิจฉัยข้อกฎหมายนี้ออกมาในรายละเอียดอย่างไร หลัง สนง.เสนอเรื่องเข้าบอร์ด กสทช.วันจันทร์นี้

ความเดิมคือตัวบทในกฎหมาย 2 ฉบับ ขัดกันเอง ใน พรบ.ประกอบกิจการฯ 2551 ซึ่งออกมาก่อนนั้นคุ้มครองทีวีรายเดิมในระบบอะนาล็อก แต่ พรบ.กสทช. 2553 ที่ออกตามหลัง นั้นบอกว่าทุกคนต้องทำตามกติกาในระบบใบอนุญาตของ กสทช. จึงเป็นที่มาของการที่บอร์ด กสท. มอบ สนง.ส่งให้กฤษฎีกาตีความ หลังจากทางผู้ประกอบการทีวีอะนาล็อกยื่นหนังสือเข้ามาทวงถาม และมีการฟ้องไปที่ศาลปกครองด้วย

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสุดท้าย ฟรีทีวีในระบบอนาล็อกเดิมได้รับการคุ้มครองแต่ไม่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมร้อยละ 2 ของรายได้ให้ กสทช. แต่ก็มีประเด็นต้องถกต่อเรื่องสัดส่วนการรับชมว่ามาจากช่องใดเท่าไหร่กันแน่ในการคิดอัตราค่าธรรมเนียม เนื่องเพราะฟรีทีวีรายเดิมได้รับการคุ้มครองตามสิทธิ์เดิมในระบบอะนาล็อกหรือระบบสัมปทาน นั่นคือการออนแอร์ผ่านช่องทางแบบอะนาล็อกเท่านั้น

แต่ตอนนี้ทุกช่องเดิมออกอากาศคู่ขนาน 2 ระบบ (analog + digital) พูดง่ายๆก็คือต้องวิเคราะห์ข้อเท็จจริงว่ารายได้ที่ฟรีทีวีรายเดิมได้รับนั้นแบ่งสัดส่วนมาจากช่องทางใด ถ้าเป็นการรับชมช่องเดิมผ่านดาวเทียม และ เคเบิลในระบบ Must Carry ก็คือการรับชมผ่านระบบดิจิตอล ตามระบบใบอนุญาตของ กสทช.แล้ว (ไม่ใช่ระบบสัมปทานเดิม)

อย่างไรก็ตาม กสทช.เคยมีนโยบายจะลดหย่อนค่าธรรมเนียมให้กับช่องอะนาล็อกเดิมที่ยินดีมาออกคู่ขนาน 2 ระบบด้วย สรุปก็ต้องนำตัวเลขทั้งหมดมาวิเคราะห์กันอีกที

ประเด็นเรื่องค่าธรรมเนียมอาจะเป็นเรื่องที่ไกลตัวผู้บริโภคสักหน่อย แต่เป็นเรื่องที่กระทบรายได้เข้ารัฐ และ กระทบการแข่งขัน ในมิติต้นทุนรายได้ที่จะได้เปรียบ เสียเปรียบกัน

วันนี้ สนง.จึงเสนอไอเดีย อาทิ การทำเพดานการเก็บค่าธรรมเนียมเหมือนฝั่งโทรคมนาคม ถ้าเป็นรายเล็กที่รายได้รวมต่ำกว่า ….. ล้าน ก็ให้ยกเว้นไม่ต้องจ่ายเลย เพื่อช่วยรายเล็กที่อาจเสียเปรียบรายใหญ่เป็นต้น

สำนักที่ดูแลเรื่องค่าธรรมเนียม เป็นส่วนงานของ กสท./กสทช. ที่น่าจะมีคนไม่ชอบหน้ามากที่สุด เพราะมีหน้าที่ต้องทวงเงิน เจ้าหน้าที่เคย โทรไปทวงเคเบิลท้องถิ่นแล้วร้องไห้มาแล้วก็มี หรือ แบบถูกเชิดใส่ก็มี เพราะช่องและโครงข่ายทีวีดาวเทียม เคเบิลมีหลายร้อยราย การทวงเก็บค่าธรรมเนียมจึงสาหัสไม่น้อย เจอทั้งคนที่ยินดีจ่าย และ คนที่โยกโย้โยเย

สำหรับกลุ่มทีวีดิจิตอล ถือเป็นผู้ประกอบการที่ดีจนน่าใจหาย แม้จะสาหัส แต่ 22 ช่องก็มาจ่าค่าธรรมเนียมร้อยละ 2 ให้ กสทช.ครบแล้วทุกบาททุกสตางค์ ซาบซึ้งมากมาย

ส่วนฝั่ง PayTV สนง.แจ้งว่า ปีนี้ TrueVisions และ RS มาจ่ายค่าธรรมเนียมเต็มที่ คำนวณเม็ดเงินมาได้สูงทีเดียว ทำตามกติกาอย่างนี้ก็ต้องชม

ส่วนกลุ่มวิทยุทดลองประกอบกิจการกว่า 4 พันราย ยังไม่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมใบอนุญาตใดในเวลานี้ เพราะยังเป็นเพียงใบอนุญาต *ทดลองประกอบกิจการ* รอจัดระบบใหญ่หลังแผนคลื่นความถี่เสร็จแล้วจัดสรรคลื่นใหม่ ออกใบอนุญาตจริงทีเดียว

ค่าธรรมเนียมร้อยละ 2 จะสัมพันธ์กับสัดส่วนรายได้ของผู้ประกอบการ คือถ้าแจ้งว่ารายได้มาก ก็ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมให้ กสทช.มาก ถ้าแจ้งตัวเลขน้อยก็จ่ายน้อย เป็นต้น คล้ายกับการจ่ายภาษี คนที่ตั้งใจจ่ายเต็มเม็ดเต็มหน่วยก็มี คนที่พยายามจะเลี่ยงก็มี

ค่าธรรมเนียมร้อยละ 2 ดังกล่าว ก็คือเงินที่ กสทช.เก็บมาใช้เป็นค่าใช้จ่ายในการทำงานทั้งหมดนั่นเอง เช่น เงินเดือน ของกรรมการและเจ้าหน้าที่ทุกคน ซึ่งก็ทำให้เราต้องขยันตั้งใจทำงานให้สมกับค่าใบอนุญาตที่เขาจ่ายมาให้เราทำงานอย่างเต็มที่ ตรงไปตรงมา ให้ความเป็นธรรมทุกฝ่าย

เรื่องงานกำกับค่าธรรมเนียมนี้ มี กสทช. ดร. Thawatchai Jittrapanun เป็นคนดูแลภาพรวม ซึ่งจะเสนอแนวทางการกำกับอย่างเป็นธรรมให้ กสท.พิจารณาต่อไป

ในทางทฤษฎี ถามว่าในเมื่อผู้ประกอบการต้องจ่ายค่าธรรมเนียมจุกจิกแบบนี้ ทำไมช่องส่วนใหญ่จึงยังยินดีจ่าย เพราะว่าระบบใบอนุญาต อย่างน้อยก็แฟร์กับเขามากกว่าระบบอื่นๆ เพราะค่าธรรมเนียมใบอนุญาต ทางผู้ประกอบการช่องเป็นคนแสดงรายได้เอง และ จ่ายเอง ไม่ใช่ระบบเรียกเก็บเงินตามอำเภอใจของผู้มีอำนาจนั่นเอง

กสทช. ถูกออกแบบมาให้ทำหน้าที่นี้ด้วย คือวางกติกา ก่อนออกใบอนุญาต ให้วิทยุ ทีวี ที่อยู่ในระบบเก่าหรือนอกระบบ มาเข้าสู่ระบบใหม่ ที่เปิดเผยโปร่งใสกว่าระบบเก่า ส่วนจะกำกับดูแลเป็นธรรมหรือไม่ก็ต้องตรวจสอบการทำงานของ กสทช.เช่นกัน

….. นอกจากเรื่องค่าธรรมเนียม แล้ววันนี้ยังหารือกับ สนง.เรื่องแผนการยุติทีวีอะนาล็อก และ ประชุมกับบอร์ดกองทุนฯด้วย มีรายละเอียดมากมาย ….

แต่ดึกแล้ว ไว้มาสรุปเพื่อทราบเพิ่มเติมวันพรุ่งนี้ค่ะ …..