สรุปผลการประชุมบอร์ดใหญ่ กสทช.ผ่านร่างเกณฑ์ประมูลคลื่น 1800 MHz

14th July, 2015
Summary of NBTC Panel’s meeting today: กสทช. เห็นชอบร่างหลักเกณฑ์ประมูล 4G คลื่นความถี่ 1800 MHz และให้นำไปรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อไป

Draft regulations for auction on 1800 MHz is approved for public hearing today, it’s too delayed after the concession of True & CAT ended for years. Overall, it is a better draft than a previous Auction Rules on 2100 MHz. However, I have still reserved some points such as the condition for 4G network roll-out plans which will show what’s called a ‘digital devide’ in the country since upto 40% of network coverage are only required in 4 years as a minimum rules. More to discuss & respond to the draft auction rules. Keep eyes on & actively involved.

14 ก.ค. 2558

สรุปผลการประชุมบอร์ดใหญ่ กสทช. วันนี้ บอร์ดใหญ่ผ่านร่างเกณฑ์ประมูลคลื่น 1800 MHz ไปรับฟังความคิดเห็นอีกรอบ หลังบอร์ดโทรคมนาคม (กทค.) ผ่านร่างมาแล้ว (เนื่องจากเป็นเรื่องร่างประกาศ และ การจัดสรรคลื่น จึงต้องเข้าบอร์ดใหญ่พิจารณา แต่การรับรองผลการประมูลจะเข้าบอร์ดโทรคมนาคม (กทค.) อย่างเดียว

โดยภาพรวม ร่างเกณฑ์การประมูลคลื่น 1800MHz ดีกว่าตอนประมูลคลื่น 2100 (3G) เพราะมีเงื่อนไขส่งเสริมการแข่งขันและกันการฮั้วไว้ระดับหนึ่ง แต่ต้องดูกระบวนการและผลการประมูลอีกที ที่สำคัญคลื่นความถี่โทรคมนาคม รอบนี้จัดสรรให้ได้แค่ 2 ราย ถ้ามีคนประมูลมากกว่าของก็คงเคาะแข่งกันมาก ถ้าค่ายมือถือรายใหญ่เข้าประมูลหมดทุกรายก็คงแข่งเคาะกันสูงอยู่

อย่างไรก็ตามมีประเด็นที่ดิฉันเห็นต่างมากคือการระบุเงื่อนไขการวางโครงข่าย 4Gไว้แค่อย่างน้อยร้อยละ 40 ใน 4 ปี ซึ่งสัญญาณจะกระจุกตัวอยู่ในเขตเมืองใหญ่เท่านั้น ยิ่งจะตอกย้ำปัญหาความเหลื่อมล้ำหรือ digital divide ในประเทศมากเข้าไปอีก (ในขณะที่เงื่อนไขการวางโครงข่าย ทีวีดิจิตอล กติกาของ กสทช.กำหนดให้ถึงร้อยละ 95 ใน 4 ปี)

อีกทั้งประเด็นการคุ้มครองผู้บริโภคอื่นๆ ที่ควรเพิ่มเติมให้สอดคล้องกับการใช้บริการข้อมูลสารสนเทศ ทั้งเรื่องอัตราค่าบริการ ความเร็ว การเข้าถึง ความเป็นกลางของโครงข่าย ฯลฯ

ไว้จะมาเล่ารายละเอียดเพิ่มเติมค่ะ

อ่านสรุปผลประชุมฉบับที่ สนง. ส่งข่าวได้ข้างล่างนี้ มีวาระจรเป็นประเด็นเรื่องปรับปรุงกฎกติกาการจัดซื้อจดจ้างของ สนง. กสทช. ให้รัดกุมขึ้นโดยกลับไปใช้ระเบียบของราชการทั่วไป แทนกติกาของ กทช.เดิม

…….. …….. …….

กสทช. เห็นชอบร่างหลักเกณฑ์ประมูล 4G คลื่นความถี่ 1800 MHz และให้นำไปรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อไป

และยกเลิกระเบียบพัสดุ กสทช. เดิมมาใช้ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 แทนเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) เปิดเผยว่า วันนี้ (14 ก.ค. 2558) ที่ประชุม กสทช. วาระพิเศษเพื่อพิจารณาร่างหลักเกณฑ์ประมูล 4G คลื่นความถี่ 1800 MHz มีมติเห็นชอบ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมย่าน 1710-1722.5 MHz 1805-1817.5 MHz และ 1748-1760.5/1843-1855.5 MHz และ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่องแผนความถี่วิทยุกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล (IMT) ย่านความถี่ 1710-1785/1805-1880 MHz และให้นำไปรับฟังความคิดเห็นสาธารณะในวันที่ 18 ก.ค. 2558

ร่างหลักเกณฑ์ประมูล 4G คลื่นความถี่ 1800 MHz ที่จะเปิดประมูลในวันที่ 11 พ.ย. 2558 กำหนดให้มีการประมูลคลื่นความถี่เป็น 2 ใบอนุญาต ใบอนุญาตละ 12.5 MHz โดยมีกำหนดราคาเริ่มต้นการประมูลที่ 11,600 ล้านบาทต่อหนึ่งใบอนุญาต ซึ่งเป็นราคาที่คำนวณจาก 70% ของมูลค่าคลื่นความถี่ กรณีที่มีผู้เข้าร่วมการประมูลผ่านคุณสมบัติน้อยกว่าหรือเท่ากับจำนวนใบอนุญาตที่เปิดให้ประมูล จะเพิ่มราคาตั้งต้นเป็น 16,575 ล้านบาทต่อหนึ่งใบอนุญาต ซึ่งเป็นราคาที่คำนวณจากมูลค่าคลื่นที่แท้จริง

นอกจากนี้ ร่างหลักเกณฑ์ประมูล 4G ยังกำหนดให้ผู้ชนะการประมูลต้องติดตั้งโครงข่ายให้ครอบคลุมจำนวนประชากรไม่น้อยกว่า 40% ของจำนวนประชากรทั้งหมด ใน 4 ปี นับตั้งแต่วันที่ได้รับอนุญาต และยังได้กำหนดเพดานการถือครองคลื่นความถี่ได้ไม่เกิน 60 MHz รวมถึงกำหนดเงื่อนไขในการคุ้มครองผู้บริโภค โดยให้ผู้ชนะการประมูลเสนออัตราค่าบริการที่เหมาะสมเข้ามาด้วย ซึ่งต้องไม่เกินอัตราค่าบริการขั้นสูงที่สำนักงาน กสทช. ได้ประกาศกำหนดไว้ พร้อมทั้งต้องจัดทำแผนความรับผิดชอบต่อสังคม ที่ครอบคลุมถึงการจัดการขยะอิเล็คทรอนิคส์ สุขภาพของผู้ใช้บริการ บริการสำหรับผู้พิการซึ่งอย่างน้อยต้องมีการกำหนดอัตราค่าบริการพิเศษ และการจัดทำใบแจ้งหนี้หรือสัญญาให้บริการที่ใช้อักษรขนาดใหญ่หรือใช้อักษรสำหรับคนตาบอด (Braille) โดยไม่คิดค่าบริการเพิ่ม และแผนคุ้มครองผู้บริโภค โดยให้ครอบคลุมถึงเรื่องมาตรการการรับเรื่องร้องเรียนโดยไม่มีค่าบริการ มาตรการจัดการกับบริการบริการที่ไม่เหมาะสม กระบวนการทำความเข้าใจกับประชาชนในการตั้งสถานีวิทยุคมนาคม และการสร้างความตระหนักรู้ให้แก่ผู้ใช้บริการเกี่ยวกับสิทธิในการใช้บริการโทรคมนาคม

นายฐากร กล่าวว่า ตามกรอบการประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz จะเริ่มรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมย่าน 1710-1722.5 MHz/1805-1817.5 MHz และ 1748-1760.5/1843-1855.5 MHz และ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่องแผนความถี่วิทยุกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล (IMT) ย่านความถี่ 1710-1785/1805-1880 MHz ในวันที่ 18 ก.ค. 2558 คาดว่าจะประกาศในราชกิจจานุเบกษาได้ไม่เกินวันที่ 26 ส.ค. 2558 หลังจากนั้นจะประกาศเชิญชวนผู้สนใจเข้าร่วมการประมูลคลื่นความถี่มารับเอกสารประกอบในการเตรียมการประมูล (รับซองประมูล) ได้ประมาณวันที่ 28 ส.ค.-28 ก.ย. 2558 และกำหนดให้ผู้สนใจสามารถยื่นเอกสารเพื่อเข้าร่วมการประมูลคลื่นความถี่ (ยื่นซองประมูล) ในวันที่ 30 ก.ย. 2558

จากนั้นคาดว่าจะสามารถพิจารณาคุณสมบัติผู้มีสิทธิเข้าร่วมการประมูลภายในช่วงระหว่างวันที่ 30 ก.ย.-21 ต.ค. 2558 และจะสามารถประกาศผลผู้ผ่านคุณสมบัติได้ในวันที่ 21 ต.ค. 2558 หลังจากนั้น มีการเตรียมความพร้อมสำหรับผู้เข้าร่วมการประมูล เพื่อซักซ้อมความเข้าใจกฎกติกาการประมูลให้ผู้ที่ผ่านคุณสมบัติเป็นผู้เข้าร่วมการประมูลในช่วงระยะเวลาวันที่ 22 ต.ค.-10 พ.ย. 2558 ภายหลังจากเสร็จสิ้นขั้นตอนกระบวนการทั้งหมด สำนักงาน กสทช. คาดว่าจะสามารถจัดให้มีการประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz ได้ในวันที่ 11 พ.ย. 2558 และจะสามารถรับรองผลและประกาศผลผู้ชนะการประมูลได้ภายในไม่เกินวันที่ 25 พ.ย. 2558 ทั้งนี้ผู้ชนะการประมูลจะต้องชำระเงินประมูลและรับใบอนุญาตภายในเดือน ธ.ค. 2558

จากนั้นที่ประชุม กสทช. ได้มีมติเห็นชอบให้ยกเลิกระเบียบพัสดุของ กทช. เดิม และให้นำระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาบังคับใช้เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ และเกิดความรัดกุม ตอบสนองต่อนโยบายของรัฐบาล…