…ถ้ามั่นใจแล้วให้สู้ด้วยกันจนสุดทาง อะไรจะเกิดก็เกิด ถ้าสู้ๆถอยๆจะไม่ใช่แนวข้าพเจ้านั่นเอง

8 – 9 – 58

“ย้ำกับ ตนเอง และ กสทช. ถ้านโยบายเรื่องการแข่งขันเสรีเป็นธรรมอันไหน ที่ใจยังไม่กล้าพอ แนะนำว่าไม่ควรเริ่มดีกว่ามาถอยตอนหลัง แต่ถ้ามั่นใจแล้วให้สู้ด้วยกันจนสุดทาง อะไรจะเกิดก็เกิด ถ้าสู้ๆถอยๆจะไม่ใช่แนวข้าพเจ้านั่นเอง”

A daily report of my work on September 8, 2015: meeting with staffs from 3 Bureaus preparing for Work Plan next year, then in a meeting with sub-Com to review consumers complaints on PayTV, false ad on fertilizers & DTV set-top boxes & my personal comments on a controversial policy to reform audiences survey system for TV popular rating by NBTC & industries which now the funding proposal is opposed by the main players in the market. More to explain.

เช้านี้ประชุมกับทีมจาก 3 สำนัก คือสำนักคุ้มครองผู้บริโภคสื่อวิทยุและโทรทัศน์ (บส.) สำนักส่งเสริมการแข่งขันและกำกับดูแลกันเอง (สส.) และสำนักดิจิตอลทีวี (จส.) เพื่อติดตามงานที่ยังคั่งค้างในปีนี้ รวมถึงการวางแผนงานในปีหน้า 2559 ซึ่งจะเป็นปีสุดท้ายที่จะได้ทำงานด้วยกันเต็มที่อีกทั้งปี เพราะปี 2560 วาระจะหมดลงก่อนครบปี

วันนี้จึงบอกทีมใน กสทช. ทุกสำนักฯ ที่ทำงานกันใกล้ชิดว่ายังมีงานสำคัญอะไรที่คั่งค้าง ให้เร่งทำให้ครบในปีหน้า ให้ลุยร่วมกันเต็มที่ยิ่งกว่าเดิม นอกจากงานประจำตามกฎหมายและแผนแม่บทฯ ที่ต้องทำอยู่แล้ว ส่วนตัวก็มีบางงานที่ชอบจะทำมากเป็นพิเศษ แต่ไม่ว่าทำเพราะชอบหรือทำเพราะหน้าที่ก็เต็มที่เสมอค่ะ

ช่วงไตรมาสหลังๆ งานจะยุ่งมาก เป็นอย่างนี้เกือบทุกปี จากนั้นจะผ่อนช่วงต้นปี แล้วก็เริ่มเข้มข้นขึ้น อย่างช่วงเวลานี้เมื่อปีก่อน ก็คือวิกฤตกับช่อง 3 ปีก่อนช่วงนี้ ช่องฟรีทีวีเดิมทั้งช่อง 3 และช่อง 7 ไปฟ้องศาลและ ป.ป.ช. มาปีนี้ช่องดิจิตอลน้องใหม่ก็ร่วมกันฟ้อง กสทช. ให้วุ่นกันแก้ปัญหาต่อ

ความสัมพันธ์ระหว่าง กสทช. กับผู้ประกอบการสื่อก็เป็นแบบ Love-Hate relationships หรือทั้งชอบทั้งชัง เนื่องจากการแข่งขันสูงมาก ไม่ผูกขาดสงบนิ่งเหมือนก่อน สมัยระบบสัมปทาน ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐผู้กำกับดูแลกับเอกชนที่มารับสัมปทาน ก็มักราบเรียบไม่ค่อยมีปัญหามาฟ้องร้องกันมากมายเหมือนยุคแข่งขันสูง การแข่งขันดีกว่าการผูกขาด การกดดัน ร้องเรียนคานดุลกัน น่าจะดีกว่าการฮั้ว ถ้ามองมุมนี้เราก็จะไม่เครียด ถือเป็นโอกาสจากวิกฤตให้แก้ปัญหา

ผลพวงของการแข่งขัน ภาคเอกชนก็จะตื่นตัวเฝ้าระวังคู่แข่งตลอดเวลา เมื่อใดที่รู้สึกตนเองเสียประโยชน์หรือไม่พอใจองค์กรกำกับ ก็จะออกมาโวย ซึ่งก็ดีแล้ว การแข่งขันออกฤทธิ์แรง วันนี้จึงได้นั่งอ่านจดหมายจากช่อง 7 ที่ปรกติไม่ค่อยโวยวายกับใคร ก็กึ่งๆยื่นโนติส มาเบรค กสทช. เรื่องงบสำรวจเรตติ้งระบบใหม่ จากการที่ได้นั่งอ่านจดหมายจากช่อง 7 และ จดหมายจากบริษัท เนลเส็น กลับบอกเราว่า สิ่งที่เราทำงานเรื่องนี้มาทั้งหมดนั้นเดินถูกทางแล้ว

การส่งเสริมการแข่งขันที่เสรีเป็นธรรม จะเกิดขึ้นได้เมื่อไปกระทบการผูกขาดแบบเดิม หลักการนี้ใช้ได้เสมอ เพียงแต่เราต้องรอบคอบเรื่องรายละเอียด เมื่อ กสทช.วางนโยบายเรื่องใด แล้วคนที่อยู่ในระบบเดิมที่เราต้องการจะปฏิรูป ลุกขึ้นมาคัดค้าน ส่วนหนึ่งเป็นตัวชี้วัดว่า เราเดินมาถูกทาง แน่นอน เมื่อมีผู้ได้รับผลกระทบก็ต้องมีผู้ร้องเรียน ดังนั้นสิ่งที่ กสทช. ต้องรอบคอบคือข้อกฎหมาย และ กระบวนการทั้งหมด เหมือนกรณีช่อง3 ปีก่อน นั่นหมายความว่า ถ้าเรามั่นใจนโยบายว่าเดินมาถูกทาง มีประโยชน์สาธารณะเป็นเป้าหมายคือยกเลิกการผูกขาด และ วางระบบใหม่ เราก็ต้องไปให้สุดทาง พูดง่ายๆ ถ้าตัดสินใจเริ่มต้นแล้ว ก็ต้องพร้อมจะสู้ให้สุด เพราะเจออุปสรรคแน่นอน ขอเพียงไม่ถอยในหลักการ ส่วนตัวเชื่อว่าเราจะฟันฝ่าอุปสรรคไปได้

อย่างกรณีข้อพิพาทกับช่อง 3 เมื่อปีที่ผ่านมา เมื่อเราตัดสินใจเดินนโยบายนี้แล้ว ก็ต้องไปต่อให้สุด ไม่มีมายูเทิร์นกลางทาง ถ้าผลกระทบมันสูง ส่วนตัวยอมรับว่าการมีข้อพิพาทกับช่อง 3 ปีก่อนแล้วเราใช้วิธีสู้แบบดับเครื่องชนกัน ก็มีความเสี่ยงสูง แต่ถ้าไม่สู้กันให้ชัด ทีวีดิจิตอลก็อาจจอดก่อนแจว

“บางเรื่องถ้าต้องสู้กันไม่ถอยแล้วมันดีต่อภาพรวม เราก็ต้องสู้กันสักตั้งให้สุดทาง สู้ๆถอยๆไม่ใช่แนวข้าพเจ้า แต่ ถ้าไม่มั่นใจ ก็ไม่ควรเดินหน้าแต่แรก”

เรื่องคู่ขนานผ่านไปได้แล้ว ตอนนี้เรื่องใหญ่ในวงการคือเรื่องเรียงช่องที่ยังไม่จบและศึกการสำรวจเรตติ้งทีวี ที่เพิ่งเริ่มต้นและร้อนระอุแน่นอน ย้ำกับ ตนเอง และ กสทช. ถ้านโยบายไหน ใจไม่กล้าพอ แนะนำว่าไม่ควรเริ่มดีกว่ามาถอยตอนหลัง แต่ถ้ามั่นใจแล้วให้สู้ด้วยกันจนสุดทาง อะไรจะเกิดก็เกิด ส่วนตัวยังไม่อยากตอบโต้จดหมายจากช่อง 7 และบริษัทนีลเส็นในเวลานี้ ให้เวลาทางสำนักงาน ได้ทำข้อมูลไตร่ตรองให้รอบคอบ ถ้าถึงเวลาต้องสู้ ค่อยว่ากัน ข่าวการวางระบบสำรวจเรตติ้งใหม่ของอุตสาหกรรมและแนวนโยบายสนับสนุนของ กสทช. ส่งเสียงดังไปข้ามประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่ม AEC เขาจับตาการเปลี่ยนแปลงของเราอยู่ ไม่ใช่ประเทศไทยที่เจอสภาพการณ์ดังเช่นที่ผ่านมา ดังนั้น ถ้าเราปรับปรุงระบบได้จริงๆ จะเป็นโมเดลกระทบไปประเทศอื่นๆด้วย แน่นอนงานนี้เดิมพันสูง

มีองค์กรสื่อในประเทศแถบอาเซียนติดต่อมาขอให้ กสทช. ไปเล่าเรื่องการจะปรับระบบการสำรวจเรตติ้งใหม่ คงต้องเชิญท่าน Thawatchai Jittrapanun ที่ดูแลเรื่องนี้โดยตรง แน่นอน ถ้าทุกฝ่ายหาทางออกแบบ วิน-วิน ได้ จะดีที่สุด แต่ถ้าไม่ได้ แล้วบางเรื่องจำเป็นต้องสู้กัน ก็ต้องสู้ แม้จะต้องมีฝ่ายแพ้หรือชนะในที่สุด

พรุ่งนี้จะไปงานสัมมนาของ
Media Partner Asia ซึ่งเขาจะพูดกันเรื่องโฆษณาและการสำรวจเรตติ้งด้วย มีคีย์สำคัญไปครบ ไว้มารายงานค่ะ อย่างที่เคยทวิตไป ถ้าเรื่องคู่ขนานผ่านไปได้ช่วงแรก แล้วเรื่องการวางโครงข่าย MUX กับการสำรวจเรตติ้งระบบใหม่เรียบร้อย ก็จะเปลี่ยนผ่านได้ราบรื่น ส่วนการยุติทีวีอนาล็อก ก็จะทำโมเดลต้นแบบไว้ให้ ถ้ามันเข้าที่ สุดท้ายมันก็จะค่อยๆยุติไปได้เอง แบบประชาชนไม่รู้สึกถึงผลกระทบมากในปีสุดท้าย

…….

หลังประชุมกับตัวแทน 3 สำนักฯ ก็มีคุยงานกับทีมวิจัยจากคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิตต่อ เพื่อจัดทำมาตรฐานจริยธรรมและต้นแบบรายการโทรทัศน์สำหรับเด็ก เยาวชน เพื่อขยายผลจากงานคู่มือจริยธรรมเล่มสีม่วง (ตามรูปประกอบ) ที่ช่องต่างๆนำไปใช้งาน กสทช. จะใช้งานวิจัยชิ้นนี้มาทั้งเพื่อกำกับดูแลช่องเด็ก เยาวชน และ ครอบครัว รวมถึงรายการเด็กของทุกช่อง รวมถึงการหามาตรการส่งเสริมด้วย ผลงานวิจัยของนักวิชาการเรื่องมาตรฐานจริยธรรมและโมเดลต้นแบบรายการเด็ก เยาวชน และ ครอบครัว จะเสร็จราวต้นปีหน้า ไว้มาแจ้งให้ทราบเป็นระยะค่ะ

……

หลังจากนั้นช่วงบ่ายวันที่ผ่านมา มีประชุมคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค กสท. พิจารณาเรื่องร้องเรียนต่างๆ อาทิ ปัญหาเรื่องกล่องดิจิตอลทีวี ผู้ร้องเรียนเข้ามา กสทช.จะให้ผู้ประกอบการชดเชยเยียวยาผู้บริโภค ดังนั้นรบกวนทุกท่านที่เจอปัญหาร้องเป็นทางการมาที่ 1200 เพื่อสิทธิ์ของท่านเอง บางประเด็นท่านร้องมาผ่านทวิตเตอร์ของดิฉัน รับทราบปัญหา แต่ไม่รู้จะให้ผู้ประกอบการเยียวยาท่านที่ไหนอย่างไร รบกวนร้องผ่าน1200 ด้วยนะคะ การจะชดเชยเยียวยาทั้งในรูปแบบคืนเงินหรือให้กล่องใหม่ ต้องมีรายละเอียดของผู้ร้องชัดเจน จะได้ดำเนินการต่อไป โทรไป 1200 ฝากข้อมูลไว้ค่ะ ถ้าเป็นเรื่องร้องเรียนด้านวิทยุและโทรทัศน์ ทาง 1200 จะแยกเรื่องส่งมาให้บอร์ด กสท. พิจารณา ถ้าเป็นด้านโทรคมนาคมจะส่งให้บอร์ด กทค. เช่นกัน

วันนี้เคสที่ร้องเรียนกล่องดิจิตอลทีวีที่มีปัญหารายหนึ่ง ก็ถูกสำนักงานสั่งพักการขายกล่องรุ่นนั้นไปแล้ว ไว้มาขยายรายละเอียดค่ะ cc @tube_nbtc นอกจากเรื่องร้องเรียนปัญหากล่องแล้ว วันนี้ยังมีเรื่องร้องเรียน @TrueVisions และ CTH ประเด็นเรื่องสัญญาบริการ เรื่องหนึ่งยุติ อีกเรื่องยัง

อีกเรื่องที่อนุผู้บริโภคฯพิจารณาวันนี้คือ กรณีช่อง @BrightTV20 กับการโฆษณาปุ๋ยอินทรีย์ วันนี้ก็เชิญทั้งทางกรมวิชาการเกษตร และช่องมาชี้แจง วันนี้ทางกรมวิชาการเกษตรก็มาชี้เป้าที่เข้าข่ายจะขัดกฎหมาย ส่วนทางช่องก็มายอมรับที่พลาดไม่ได้เซ็นเซอร์ตัวโฆษณาก่อนเพราะเป็นรายการเช่าเวลา

วันนี้อนุกรรมการฯ ก็ทำความเห็นเสนอบอร์ด กสท. เพื่อมีมาตรการทางปกครองต่อไป และให้เชิญกรมวิชาการเกษตรมาให้ความรู้ทุกช่องในเรื่องการโฆษณาปุ๋ย การโฆษณาปุ๋ยแม้ไม่ต้องขออนุญาตทางกรมวิชาการเกษตรก่อน เหมือนการโฆษณาอาหารและยาที่ต้องขออนุญาตจาก อย.ก่อน แต่ถ้าโฆษณาแล้วผิด ก็มีบทลงโทษได้

กรณีโฆษณาอาหารเสริม ทาง อย.จะเป็นคนบอก กสทช. ว่าอะไรผิดถูก ส่วนปุ๋ยจะเป็นอำนาจกรมวิชาการเกษตร ส่วนสินค้าอื่นๆและการขายตรง สคบ. ดูแลตามกฎหมาย ถ้าหน่วยงานผู้ทรงอำนาจตามกฎหมายอาทิ อย. สคบ. กรมวิชาการเกษตร แจ้งมาว่าโฆษณาดังกล่าวนั้นผิดกฎหมายเฉพาะด้าน กสทช.จะมีคำสั่งระงับช่องต่อไป

…….

ปล.รูปประกอบเป็นคู่มือจริยธรรมของสื่อที่ทำเสร็จให้ช่องต่างๆนำไปใช้แล้ว ตอนนี้กำลังจะทำเพิ่มลงรายละเอียดเรื่องมาตรฐานรายการจริยธรรมสำหรับเด็ก เยาวชน และครอบครัว รวมไปถึงการผลิตรายการต้นแบบและมาตรการส่งเสริมต่อไป…