จากนี้รอคลื่น 1800 ที่เหลือ และ คลื่นทองคำ 700MHz ที่ปัจจุบันส่งโทรทัศน์อยู่

19 ธ.ค. 58

ขอแสดงความยินดีกับ JAS&True ขอแสดงความเสียใจกับ AIS&Dtac ไว้รอการประมูลรอบใหม่ จะพยายามยุติทีวีแอนะล็อกให้เร็วๆ คลื่นจะได้คืนมาประมูลทำ LTE 4G ได้ต่อ

ส่วนตัวในฐานะลูกค้า dtac มาแต่เริ่มใช้มือถือ ก็ใจหายแทน แต่การแข่งขันก็มีแพ้มีชนะธรรมดาโลก ขอให้เครือเทเลนอร์ไปเติบโตในพม่าด้วยดีค่ะ

ก่อนนี้ก็มีข่าวลือว่า dtac จะถอยจากไทย ไปเน้นการเติบโตในพม่าซึ่งตลาดกำลังรุ่ง แต่ก็ยังอยากให้สู้ต่อในเมืองไทย อยากให้มี 4 ราย ให้ผู้บริโภคเลือก ทางออกของ Dtac ก็คือเตรียมตัวประมูลหลังสัมปทานหมดในปี 2561 ซึ่งคงต้องเป็น กสทช. ชุดหน้าแล้ว แต่เราไม่มีใครรู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นบ้างในอนาคต

ในฐานะลูกค้าก็ให้กำลังใจค่ะ ในฐานะ กสทช. ก็ให้กำลังใจทุกราย ต่างฝ่ายต่างมีหนทางที่ต้องเดินไป ข้างหน้า ธุรกิจในระบบแข่งขันก็ท้าทายแบบนี้เอง

ยังต้องการเห็นกลุ่มธุรกิจด้านโทรคมนาคมที่มีวัฒนธรรมแบบยุโรป-สแกนดิเนเวียมาทำธุรกิจในประเทศไทย คิดว่ามันสร้างความสมดุลอะไรบางอย่างได้ ส่วนAISก็คงใจหายวูบ ก็เคารพการตัดสินใจ เขามีวินัย วางแผนมาเท่าใดก็เท่านั้น ดูตอนอินทัชประมูลคลื่นทีวีดิจิตอล เมื่อเกินลิมิตเขาก็ต้องหยุดเลย

ทุกค่ายสร้างโอกาสในการเข้าถึงเทคโนโลยีการสื่อสารของประชาชน ตอนนี้มันก็ไปเร็วมาก ทุกฝ่ายต่างต้องปรับตัวตลอดเวลา สู้ๆค่ะ…ขอบคุณสำหรับสปิริต

จากนี้รอคลื่น 1800 ที่เหลือ และ คลื่นทองคำ 700MHz ที่ปัจจุบันส่งโทรทัศน์อยู่
ไว้มาขยายประเด็นเรื่องคลื่น 700 MHz และความเป็นไปได้เพิ่มเติมค่ะ คืนนี้ราตรีสวัสดิ์ทุกท่าน

ปล. ข้างล่างนี้คือ ‪#‎คหสต. ก่อนรู้ผลการประมูล

18 ธันวาคม 2558
คนที่รู้ต้นทุน จุดคุ้มทันดีที่สุดคือคนที่อยู่ในห้องประมูล คนที่ห่วงแทน ไม่มีใครรู้ตัวเลขจริงเท่าเขา ราคามาถึงขั้นนี้แสดงว่ายังอยู่ในกรอบ ก่อนการประมูลเอกชนทุกรายต้องจ้าง มือวิเคราะห์การเงินระดับท็อปมาแล้วทั้งสิ้น ทุกครั้งที่เคาะยังอยู่ในกรอบ เพียงแต่กำไรอาจลดลงมาคืนรัฐมากขึ้น

ต้นทุนการประมูลคือการลดกำไรส่วนต่างให้อยู่ในขอบเขตที่เหมาะสมตามกลไกตลาด เพราะยุคนี้ไม่ได้มีลาภลอยได้สิทธิ์มาง่ายๆเหมือนในยุคสัมปทาน ไม่ว่าเอกชนจะลงทุนจ่ายค่าประมูลคลื่นสูงถึงแค่ไหน สุดท้ายราคาการให้บริการจะถูกกำกับด้วยกลไกตลาดอีกที ให้อยู่ในจุดที่เป็นจริง พูดง่ายๆคือ ถ้าให้บริการด้วยราคาสูงในภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ คนมาใช้บริการก็ย่อมน้อย ลูกค้าน้อยก็ขายบริการไม่ดี คู่แข่งก็น่ากลัวอยู่แล้ว

เปรียบคนประมูลสิทธิ์ได้ขายอาหารในศูนย์การค้า แม้ต้องจ่ายค่าเช่าที่แพง แต่ก็ขายอาหารแพงเกินไปไม่ได้ เพราะคนจะซื้อก็จะน้อยลงไป

อย่างไรก็ตามการปล่อยให้กลไกตลาดทำงานอย่างเดียวก็ไม่พอ รัฐจำเป็นต้องเข้าไปกำกับในจุดที่เหมาะสม เพื่อไม่ให้เกิดการผูกขาดและเอาเปรียบผู้บริโภค ยกตัวอย่าง มีคนประมูลสิทธิ์ขายก๋วยจั๊บในห้าง ค่าเช่าที่แพงเลยขายแพงแต่ให้ไข่2ฟอง คนซื้อน้อย ต่อมาลดราคาลงแต่เหลือไข่1ฟอง ขายดีเยอะขึ้นมาก

พฤติกรรมผู้บริโภคบ้านเรา ขอจ่ายน้อยๆตอนแรกแม้ได้ของปริมาณน้อยกว่า แต่กว่าจะรู้อีกทีคือจ่ายรวมแพงกว่า ยิ่งคนไทยใช้มือถือแบบเติมเงินมากกว่า

ที่ผ่านมาเอกชนรายเดิมสะสมกำไรจากคนใช้มือถือเยอะมากแล้ว ไม่อยากจะพูดเพราะหยิบเล็บก็เจ็บเนื้อ คนไทยส่วนใหญ่ใช้แบบพรีเพด เงินบูดมหาศาลทุกปี พรีเพดคือการจ่ายเงินให้เอกชนก่อนล่วงหน้า แต่ถ้าใช้ไม่ครบก็เหมือนหยอดกระปุกออมสินให้ค่ายมือถือทุกปี จะขอคืนก็ยากเย็น เงินตรงนี้คือกำไร ถ้าเรายอมให้ธนาคารคิดเงินผิดแค่ 50 สตางค์ทุกเดือน แต่คูณลูกค้าทั้งหมด ธนาคารจะได้เงินฟรีๆเท่าไหร่ การให้บริการมือถือแบบพรีเพดก็เช่นกัน

จากรายงาน กสทช. สถิติปี 2557 มี 97.10 ล้านเลขหมายเปิดใช้บริการ แบ่งเป็นพรีเพดเติมเงิน 84.20 ล้านเลขหมาย รายเดือนเพียง 12.90 ล้านเลขหมาย ถ้า 84.20 ล้านเลขหมายดังกล่าว ผู้บริโภคทำเงินเหลือในซิมพรีเพดที่ถูกตัดสิทธิ์ กลายเป็นเงินบูดไปคนละ 20 บาททุกเดือน ทั้งปีจะเป็นเงินกี่บาท รายได้การให้บริการต่อเลขหมาย แบบเติมเงิน 136 บาทต่อเดือน (84.20ล้านเลขหมาย) แบบรายเดือน 565 บาทต่อเดือน (12.90 ล้านเลขหมาย)

เอกชนรายเดิมที่ประมูลรอบนี้ ได้เปรียบตรงที่มีเงินทุนสะสมเหลือจากการประมูลคลื่น 2100 ที่ไม่มีการแข่งเคาะราคาเลย รอบก่อนจ่ายถูกมาก มาคืนรอบนี้ ส่วนรายใหม่ย่อมเสียเปรียบเป็นธรรมดา ถ้า regulator ไม่มีมาตรการช่วยผลักรายใหม่ให้เข้าสู่ตลาด ให้สู้ระนาบเดียว เขาจะสู้รายเดิมยากอยู่แล้ว

ดังนั้นแม้ต้นทุนการประมูลรอบนี้จะสูง โดยภาพรวมเอกชนยังทำกำไรได้ แต่อาจน้อยลง คนเสียใจที่สุดคงเป็นนักลงทุนในตลาดหุ้นที่หวังฟันกำไร เงินกำไรมันไม่หายไปไหน มันไปอยู่ที่ใดที่หนึ่ง ถ้าโมเดลแบบนี้มันไม่ไปกระจุกอยู่ในมือนักลงทุนในตลาดหุ้น แต่มาจ่ายเข้ารัฐแทน อยู่ที่รัฐจะใช้ทำอะไร โดยอุดมการณ์ส่วนตัว (อาจเรียกตัวเองว่าชอบ Social democracy) พอใจการจ่ายเงินเข้ารัฐและรัฐนำไปกระจายรายได้สู่ฐานล่าง มากกว่าให้ลงทุนในตลาดทุน

คนเล่นหุ้นคงใจแฟบ แต่รัฐใจฟูฟ่อง จากนี้สังคมก็ต้องตรวจสอบว่ารัฐนำเงินก้อนนี้ไปใช้อย่างเหมาะสมหรือไม่ มันก็คือภาษีของเรารูปแบบหนึ่งนั่นเอง เป็น กสทช. อาจจะพูดได้ เพราะกฎหมายห้ามเราเล่นหุ้นใดๆในกิจการด้านการสื่อสารอยู่แล้ว เพราะหน้าที่เราคือกำกับดูแลการแข่งขันในกิจการนี้

ดังนั้นทุกครั้งที่เคาะไม่ใช่การเพิ่มต้นทุน หากคือการลดกำไร จากนี้ก็อยู่ที่ว่า จะทำใจลดกำไรให้เหลือเท่าไหร่จึงจะพอรับได้ในการลงทุน กำไรของเอกชนที่หายไป คือแทนที่จะไปอยู่ในพอร์ทของผู้ถือหุ้นและนักลงทุนมหาชน ก็จะย้ายมาอยู่ในคลังของรัฐ เก็บไว้ใช้เพื่อประโยชน์สาธารณะ

ไทยเราเลือกโมเดลนี้ตั้งแต่มี พรบ.กสทช. เริ่มร่างจนเสร็จในรัฐบาลประชาธิปัตย์ บังคับใช้ในรัฐบาลเพื่อไทย และมาประมูลแพงๆในรัฐบาล คสช. (ให้เครดิตหมด) ทุกอย่างมันมีประวัติศาสตร์ ไม่ใช่เพิ่งมาคิดกันวันนี้ ผลของสิ่งที่เกิดในวันนี้คือการออกแบบมาในอดีต ส่วนมันจะถูก/ผิด ดีไม่ดี สังคมก็ช่วยกันคิดต่อ

ในฐานะที่มีส่วนร่าง พรบ.กสทช.ฉบับนี้มา และมาเป็น กสทช. เองอยู่ขณะนี้ ปัจจุบันเหมือนเรากำลังดูผลของอดีตที่เราจินตนาการมา ถูกบ้างพลาดบ้าง แน่นอนมีคนคัดค้านโมเดลการประมูล และ กำลังมีการขอแก้กฎหมายเพื่อออกแบบโมเดลใหม่ๆอีก หรืออาจกลับไปแบบเดิมอีกก็เป็นได้ รอดูต่อไปค่ะ…