Sum up สรุปงานวันนี้

2 มี.ค. 59

A summary of my work today in an internal meeting with staffs, media academics & reps from media groups on model of co-regulation & solution on the current cases against Ch33 on media ethics. Gonna speak on the issues tmr at TJA event. More to tell & debate.

เช้านี้มีกว่า 60 missed calls คาดว่าเป็นของนักข่าวทั้งสิ้น ขออภัยรับไม่ทัน คือกลางวันจะติดประชุม บางทีนั่งหัวโต๊ะ รับโทรศัพท์บ่อยไม่สะดวกค่ะ งานประจำส่วนใหญ่คือการประชุมในรอบ นอกรอบ เสวนา สัมมนา พบผู้คนอยู่แล้ว การพูดโทรศัพท์จึงไม่สะดวกไปโดยปริยาย แต่แอบอ่าน TL กับ RT ได้อยู่บ้าง ช่วงหลังจึงปรับวิธีการคือรวบรวมสมาธิมานั่งทวิตความคิดเห็นให้ทราบโดยทั่วกันไปเลย สื่อต่างๆก็นำไปใช้ได้ แต่ส่วนใหญ่จะทวิตดึก กลางวันจะวุ่นๆ

ช่วงเย็นก็มีกิจกรรมโน่นนี่ อย่างวันนี้ก็ไปงานศพ เพิ่งกลับถึงบ้าน ทำธุระส่วนตัว พักสบายๆ แล้วค่อยมาทวิตงาน เป็นรูทีนแบบนี้มานานแล้ว พอเป็นคนนอนดึก ตื่นก็เลยไม่เช้ามาก แบบวิ่งไปทันประชุมพอดี ใครจะขอโฟนอินช่วงเช้า พลาดกันเสมอ ทำเอาเคืองกันมาหลายรายแล้ว จึงไม่ค่อยรับนัด การแสดงความคิดเห็นบางเรื่องก็ต้องใช้สมาธิ ถ้านัดมาสัมภาษณ์ไปเลยเราก็รวบรวมความคิดได้ก่อนพูด แต่ถ้าพูดรีบๆทางโทรศัพท์ อายุเยอะขึ้นก็คิดช้าลงบ้าง

โดยเฉพาะสื่อที่ต้องการโฟนอินสด เพราะพลาดมาหลายทีแล้ว จังหวะเวลาไม่พร้อมบ้าง อะไรบ้าง เลยพยายามไม่รับนัดถ้าไม่ชัวร์ ขออภัยที่บางทีติดต่อยาก สำหรับเรื่องที่เป็นประเด็นร้อนในขณะนี้ พรุ่งนี้ไปถามกันได้ที่สมาคมนักข่าวฯ รวมทีเดียวไปเลย ใครจะ exclusive ค่อยนั่งถกกันต่อค่ะ…

วันนี้ก็หารือเรื่องนี้กับ สำนักงานที่รับผิดชอบงานส่งเสริมการกำกับดูแลกันเองของสื่อในด้านจริยธรรม จรรยาบรรณ เรื่องเงื่อนไขใบอนุญาตฟรีทีวีดิจิตอล เงื่อนไขข้อหนึ่งของผู้รับใบอนุญาตฟรีทีวี(ดิจิตอล) คือการต้องมีกรอบจริยธรรมจรรยาบรรณของสถานี เลยคุยกับ สำนักงานว่าน่าจะใช้โอกาสนี้เชิญทุกช่องมาคุยตามเงื่อนไขใบอนุญาต นำเคสของช่อง 33 กรณีคุณสรยุทธ หรือกรณีคุณกนก ช่อง 22 ก่อนหน้านี้ มาให้ผู้บริหารทีวีดิจิตอลทั้ง 22+4=26 ช่อง นั่งถกกันถึงมาตรฐานกลางจริยธรรม รวมถึงช่องอื่นๆที่เคยมีเคสก่อนหน้านี้ด้วย ทั้งกับนักข่าว ผู้ประกาศ ดารา นักแสดง และอื่นๆว่า ทำไมช่องนั้นจึงมีมาตรฐานแบบนั้น ช่องนี้มีมาตรฐานแบบนี้ วันนี้ จนท.กสทช.ตั้งคำถามกับดิฉันว่า ทำไมดาราซีรี่ยส์วัยรุ่นทำผิดมารยาทที่ญี่ปุ่น ถูกพักงาน 6 เดือน แต่ผู้ประกาศข่าวจึงไม่ต้องทำแบบนั้นบ้าง

เราถกกันภายใน สำนักงานว่า ทำไมดารานักแสดง ฝั่งบันเทิง ถูกกดดันจริยธรรมหนักกว่า อาทิ ดาราสาวท้องก่อนแต่งยังออกมาแถลงข่าวขอโทษสังคมทั้งที่มีวุฒิภาวะแล้ว ในองค์กรสื่อ จัดลำดับความสำคัญเรื่องจรรยาบรรณแตกต่างกันอย่างไร ใช้อะไรเป็นปัจจัยตัดสิน : ตัวคน / พฤติกรรม / กระแส / ทัศนคติ / ผลกระทบต่อสังคม ฯลฯ ดารานักแสดง ทำผิดมารยาท ประมาทเลินเล่อ หรืออะไรล่อแหลมอื่น เมื่อสังคมกดดัน ทางต้นสังกัดมักมีมาตรการลงโทษ บางรายแทบไม่มีที่ยืน เพราะอะไร ระหว่างนักข่าว กับ ดารานักร้อง มีคำถามว่า สื่อ และ สังคม คาดหวังจริยธรรมใครมากกว่า สถิติที่ผ่านมา ใครถูกพักงานมากกว่าในสังคมไทย เพราะอะไร ยังหาคำตอบสำเร็จยาก เราเลยคิดว่า ควรใช้โอกาสนี้ เชิญตัวแทนฟรีทีวีทุกช่อง มาปิดห้องคุยกัน เหมือนตอนแก้ปัญหาทีวีดิจิตอล

ให้ช่องถกกันว่า ถ้าช่องเราเกิดเหตุแบบช่อง 33 วันนี้บ้าง ช่องเราจะทำอย่างไรดี แต่ละช่องเหมือนกันไหม แล้วเราจะหา ‘มาตรฐาน’ กลางได้อย่างไร กสทช.ยังไม่มีอำนาจตามกฎหมายไปตัดสิน *จริยธรรมสื่อ* แต่มีอำนาจตามมาตรา 27 (18) ในการทำให้สื่อต้องรวมกลุ่ม วางมาตรฐานจริยธรรมในการกำกับดูแลกันเอง จะเชิญตัวแทนฟรีทีวีดิจิตอลทุกช่อง มาปิดห้องคุยกันเรื่องมาตรฐานจริยธรรม รอรับ จดหมายค่ะ

เรามีทีวีเยอะช่องขึ้น ทำให้การแข่งขันและตรวจสอบกันเองเข้มข้นมากขึ้น ไม่ราบเรียบเหมือนตอนมีฟรีทีวีแค่6ช่อง ตรวจสอบกันไปก็ควรหามาตรฐานร่วมกัน ฐานความผิดแต่ละเรื่องอะไรแรงกว่ากัน คดีทุจริต อุบัติเหตุ การเมือง ล่วงเกินทางเพศ การเมือง ปกป้อง/ละเมิดสิทธิมนุษยชน ฯลฯ ในมิติจริยธรรม เพื่อไม่ให้ กสทช. จะมีสองมาตรฐานหรือเลือกปฏิบัติ เราก็ควรใช้โอกาสนี้เชิญฟรีทีวีดิจิตอลทุกช่องมาถกหา ‘มาตรฐาน’ กันเลย ใช้เคสเป็นตัวอย่าง

การส่งเสริมการกำกับดูแลกันเองเรื่องจริยธรรมของสื่อได้ดีก็คือการสร้าง *peer pressure* หรือการกดดันกันเองนั่นเอง แต่ กสทช.ก็ต้องกระตุ้นด้วย รอบแรกนี้จะ focus group ที่ฟรีทีวีดิจิตอลก่อน เพราะมีเงื่อนไขเรื่องกรอบจริยธรรมแนบท้ายใบอนุญาตหลังประมูล ทีวีดาวเทียมกับเคเบิลยังไม่มี ตามกฎ กสทช. เราถือว่าทีวีดิจิตอลภาคพื้นดิน คือฟรีทีวี ซึ่งเป็นบริการสาธารณะ เป็นการทั่วไป ส่วนทีวีดาวเทียม/เคเบิลเป็นแบบไม่ใช้คลื่นความถี่ฯ

ช่องทีวีดาวเทียม/เคเบิล ตามกฎถือเป็นกิจการไม่ใช้คลื่นความถี่ฯ ทุกช่องถือเป็นเพย์ทีวีเฉพาะกลุ่ม(ไม่เป็นการทั่วไป) กฎจึงไม่เข้มเท่าฟรีทีวี กฎที่แตกต่างคือ *ฟรีทีวีดิจิตอล ในระบบใบอนุญาต หลังการประมูล มี *เงื่อนไขแนบท้าย เรื่องกรอบจริยธรรม และ การตอบสนองเรื่องร้องเรียนจากคนดู นั่นคือที่มาของเหตุผลด้วยว่า ทำไม กสทช.จึงรองรับสิทธิ์ บังคับให้ทุกโครงข่ายดาวเทียม เคเบิล ต้อง นำพาสัญญาณฟรีทีวีทุกช่อง ตามกฎ MustCarry คือสิทธิ์ของการเป็นฟรีทีวีระดับชาติที่มาจากการประมูล ที่ต้องให้บริการเป็นการทั่วไป ทุกกล่องต้องนำไปออกช่องให้ตรงกัน สิทธิ์จึงมากับหน้าที่

***ย้ำว่า กสทช. ไม่มีอำนาจไปควบคุมจริยธรรมสื่อ แต่ กสทช. มีหน้าที่ตาม พรบ.กสทช. ที่ต้องส่งเสริมให้ผู้รับใบอนุญาต รวมกลุ่มกันมีมาตรฐานจริยธรรม*** ดังนั้นการที่ กสทช.จะเชิญตัวแทนฟรีทีวีดิจิตอลทุกช่องมาถกกันเพื่อช่วยวาง ‘มาตรฐานจริยธรรม’ กันเอง จึงเป็นการทำงานตามกฎหมายและแผนแม่บทอยู่แล้ว ที่จริง กสทช. ก็มี จนท.สำนักที่ทำงานด้านการส่งเสริมการกำกับจริยธรรมสื่อกันเองอยู่แล้ว ทำมาตลอด ครั้งนี้ก็ควรแปรวิกฤตให้เป็นโอกาส รุกงานต่อ

วันนี้จริงๆมี focus group เรื่อง co-regulation กับ11องค์กรวิชาชีพเรื่องมาตรฐานจริยธรรมพอดี แต่เรื่องยาว ไว้มาเล่าค่ะ เป็นวงคุยปิดกับ นักวิชาการ/ 11 องค์กรวิชาชีพสื่อ และ จนท. กสทช. ได้ถกกัน มีประเด็นเยอะ ต้องย่อยออกมาเป็นแผนงาน และการขับเคลื่อนรูปธรรม อื่นๆเพิ่มเติม ค่อยมาเล่าพรุ่งนี้ จะพูดเรื่องนี้ในเวทีที่สมาคมนักข่าวฯด้วย คืนนี้ขอยุติการทวิตก่อน ขอบคุณที่เปิดใจรับฟังกันค่ะ

…..

ปล.สังคมกำลังถกเถียงประเด็นนี้ดันอย่างเข้มข้นในพื้นที่สาธารณะ ดีแล้วค่ะ ท่านใดเห็นต่างกับดิฉันก็วิจารณ์ โต้แย้ง ด่าได้เสมอ เราควรตรวจสอบกันและกัน เยอะๆ…