สรุปงาน 22 เมย. 59

April 22, 2016
A summary of today: in 2 meetings abt monitoring network for media consumers protection; Code of ethics and guidelines for producing children & family TV shows. Plus my comment on a controversial deal on spectrum 900MHz. Telecom sector in Thailand is getting messy again. SAD but TRUE. More to tell.

22 เมย. 59

กรณีข่าวเอกสาร MOU เรื่องคลื่น 900 ระหว่าง AIS – TRUE – กระทรวงไอซีที – เลขาธิการ กสทช. ที่มีการปล่อยในทวิตเตอร์ ในฐานะ กสทช. ดิฉันไม่ทราบเรื่องมาก่อน แต่จะทำบันทึกถาม สำนักงานให้ชี้แจงในบอร์ด ผลเป็นอย่างไรจะมาสรุปให้ทราบต่อไป หรือระหว่างนี้ท่านเลขาธิการ @TakornNBTC อาจแถลงชี้แจงไปก่อน เนื่องจากดิฉันไม่ได้อยู่บอร์ดโทรคมนาคม (กทค.) จึงไม่ได้ติดตามประเด็นเรื่องคลื่น 900 ใกล้ชิดมาก แต่จะถาม กทค.ประวิทย์ และทาง สำนักงานให้ค่ะ

สัปดาห์หน้าวันที่ 28 เม.ย. 59 จะมีประชุมบอร์ดใหญ่ กสทช. ดิฉันจะขอให้ สำนักงาน ชี้แจงเรื่องทั้งหมด หลังบอร์ดก็งงที่อยู่ๆใช้ ม.44 ยกเลิกมติ กสทช. ดิฉันชี้แจงแทนบอร์ด กสทช.ได้ว่าคงไม่มีใครทราบเรื่องคลื่น 900 อย่างเป็นทางการ เพราะๆอยู่ก็ทราบจากข่าวว่าใช้ ม.44 มาล้มมติ กสทช.เดิมเสียแล้ว พอดีจังหวะหยุดสงกรานต์ด้วย เลยชะงักกันไป จะมีประชุมบอร์ดใหญ่ กสทช.เร็วสุดก็พฤหัสนี้ คงได้ถกเถียงและถามเรื่องนี้กันอย่างเป็นทางการให้ชัดเจน

จุดยืนดิฉัน ไม่เห็นด้วยให้ True เข้าประมูลคลื่น 900 ได้อีก เพราะขัดกฎเดิมชัดเจน และไม่เห็นด้วยการขยายเวลาซิมดับหลังสัมปทานหมด ถ้าเราพยายามจะเดินกันไม่ตรงทางและใช้ทางลัด ระวังจะหลงทางและเจอปัญหาหนักกว่าเดิม เพราะอาจเจอวิกฤตศรัทธาความเชื่อใจจากสังคมได้ ไม่ว่ายุคไหนๆหรือจะมี กสทช.หรือไม่ กิจการโทรคมนาคม ดั่งต้องคำสาปจริงๆ คือจะต้องมีการเมืองเข้ามาเกี่ยวและซ่อนเงื่อนตลอด จะออกจากวังวนอย่างไร ยอมรับว่าตอบไม่ถูกเหมือนกันค่ะ มาถึงจุดนี้ ผ่านมาหลายยุคหลายสมัย เราจะเอากิจการโทรคมนาคมออกจากวังวนการเมืองเรื่องอำนาจและผลประโยชน์อย่างไร เรื่องปมคลื่น 900 ขอไปถามบอร์ดโทรคมนาคม (กทค.) และสำนักงานให้ได้ข้อมูลชัดเจนก่อนแล้วจะมาให้ความเห็นเพิ่มเติมค่ะ
….

ขอตัดกลับมางานฝั่งกิจการวิทยุและโทรทัศน์ (กสท.) วันนี้มีงานทั้งวัน ขอสรุปเพื่อทราบโดยย่อดังนี้ค่ะ

เช้าวันศุกร์ที่ผ่านมามีประชุมกับภาครัฐและภาคประชาสังคมที่ทำงานเฝ้าระวังเนื้อหาโทรทัศน์ที่กระทบต่อผู้บริโภค อ่านสรุปบางส่วนได้ที่ @trio_th ประเด็นปัญหาที่พบคือตอนนี้พอ กสทช. เข้มงวดกับโฆษณาผ่านโทรทัศน์มากขึ้น เขาก็ไปปล่อยของกันในโลกออนไลน์ซึ่งอำนาจ กสทช. ก็ไปไม่ถึง หลายภาคส่วนก็มักจะเรียกร้องให้ กสทช. เข้าไปกำกับเนื้อหาโฆษณาในโลกออนไลน์ด้วยซึ่งเราก็ต้องทำความเข้าใจก่อนว่าอำนาจ กสทช.ไปไม่ถึงตรงนัก แม้แต่ทาง อย. @fdathai เองก็เคยขอความร่วมมือมาที่ กสทช. ให้ช่วยประสานกับกระทรวงไอซีที ในการกำกับโฆษณาบนอินเตอร์เน็ตด้วย

กลุ่มเอ็นจีโอร้องว่า ทางไอซีที อ้างว่าพ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ไม่สามารถใช้ปิดเว็บพนันได้ (ทั้งที่ควรปิดกว่าเว็บการเมือง)  ภาคประชาสังคมอยากให้ภาครัฐให้ความสำคัญกำกับเนื้อหาในโลกออนไลน์ที่เป็นภัยกับ ปชช.ในเรื่องอื่นบ้างนอกจากจะโฟกัสแต่เรื่องการเมือง เช่นการกำกับเว็บพนัน เว็บขายยาทำแท้ง ขายยาเสียสาวล่อลวงข้อมูลต่างๆ ซึ่งที่ผ่านมา พรบ.คอมพิวเตอร์ฯ กลับไม่ตอบโจทย์เรื่องพวกนี้เลย แม้แต่ สำนักงานกสทช.เองก็มีนโยบายเฝ้าระวังเนื้อหาทางการเมืองมากกว่าเนื้อหาที่กระทบผู้บริโภคเช่นโฆษณาผิด อย. ที่ต้องรอให้ผู้บริโภคร้องเรียนเข้ามา แม้แต่บริษัทยักษ์ใหญ่Hollywood ก็ยังร้องเรียนประเทศไทยที่ปล่อยให้มีการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา online piracy กันครึกโครมโดยที่รัฐทำอะไรไม่ได้

เมื่อวันก่อนมีตัวแทนฝ่ายกฎหมายจากบรรษัทใน Hollywood มาพบกับดิฉันเพื่อร้องเรียนปัญหาเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์หนังออนไลน์ของไทยที่มีจำนวนสูง ยอมรับว่าก็มืดแปดด้าน ไม่รู้จะช่วยเขายังไงได้แต่บอกว่า We’ll see what we can do. ดูเขาก็เข้าใจแล้วเขาบอกว่าเขาก็มีวิธีแก้ปัญหาของเขาเอง

เขาเล่า 3 วิธีในการแก้ปัญหาเรื่อง online piracy ดังนี้ คือทำงานกับภาคเอกชนด้วยกัน
1. ผ่าน ISPs
2. ผ่าน ad agencies
3. ผ่าน search engine

ยกตัวอย่างในประเทศยุโรปและอเมริกาที่บริษัทหนังฮอลลีวูดขอความร่วมมือ ISPs ให้บล็อกเว็บที่ให้ดาวน์โหลดหนังผิดลิขสิทธิ์ ‪#‎onlinepiracy เขาขอความร่วมมือกับสมาคมมีเดียเอเจนซี่ให้ยกเลิกโฆษณาในเว็บที่ให้ดาวน์โหลดเนื้อหาที่ละเมิดลิขสิทธิ์ ตย.ในอังกฤษทุก agencies ให้ความร่วมมือ มาตรการต่อมาเขาขอความร่วมมือกับ search engine ที่มี market share มากคือ google ถ้ามีการค้น keyword เรื่องการดาวน์โหลดหนังผิดกฎหมายลิขสิทธิ์ น่าสนใจที่เขาเล่าว่าการขอความร่วมมือกับ ISPs/media agency/search engine ในประเทศยุโรปและอเมริกาเป็นไปด้วยดีแต่อย่างในประเทศไทย ยังไม่คืบหน้า

จุดยืนส่วนตัวดิฉันยังไม่ได้พูดว่าเห็นด้วยกับ 3 วิธีการดังกล่าวของภาคเอกชนกับเอกชนในตะวันตกทั้งหมดหรือไม่ แต่เล่าให้ฟังสิ่งที่ได้ฟังมา คืออุตสาหกรรมตะวันตกเขาใหญ่มาก ถึงจุดหนึ่งเขาก็มองข้ามรัฐแล้วก็ทำงานกับภาคเอกชนด้วยกัน ในมุมผู้บริโภคตะวันตกบางส่วนก็อาจจะไม่ชอบวิธีนี้ การละเมิดลิขสิทธิ์โดยตัวบทมันผิดกฎหมายอยู่แล้วแต่ในแง่อุดมการณ์ผู้บริโภคตะวันตกก็อาจจะไม่เห็นด้วยวิธีที่ ISP จะถือสิทธิ์ไปบล็อกเว็บเองเป็นต้น แน่นอนในวังวนของการอภิบาลอินเทอร์เน็ตมีทุกฝ่ายเกี่ยวข้องตลอดเวลา ภาครัฐ เอกชน ผู้บริโภค อยู่ที่ว่าเราจะให้อำนาจใครมีบทบาทในการกำกับดูแล ทั้งในฐานะที่เป็นพวก activist มาก่อนและปัจจุบันเป็น regulator กำกับดูแลกฎหมาย ก็เข้าใจทั้งสองมุม สุดท้ายเราก็ต้องหาจุดที่มันสมดุล

พรบ.คอมพิวเตอร์เอง ดิฉันก็ไม่ได้เห็นด้วยที่จะใช้เป็นยาสารพัดนึกมาแก้ปัญหาพวกเว็บผิด แต่ชี้ให้เห็นว่าที่ผ่านมามันถูกใช้ตอบโจทย์การเมืองมากไป จึงทำให้กลุ่มผู้บริโภค/ภาคสังคมตั้งคำถามว่าทำไม พรบ.คอมพิวเตอร์ถึงเน้นการเมืองแต่ไม่สามารถแก้ปัญหาพวกเว็บพนัน เว็บขายยาปลุกเซ็กได้ เป็นต้น เพราะ พรบ.คอมพิวเตอร์ฯถูกทำให้เข้าใจว่าใช้เพื่อปิดเว็บผิดกฎหมาย กลุ่มผู้บริโภคจึงสงสัยว่าแล้วทำไมถึงปิดเว็บพนันไม่ได้เป็นต้นค่ะ

กรณีศึกษาการแก้ปัญหาเรื่อง online piracy ของบรรษัทฮอลลีวูดที่เล่ามาน่าสนใจนะคะ ถ้ามีเวลาจะศึกษารายละเอียดแล้วก็อาจจะลองจัดเวทีคุยเรื่องนี้ดู ไม่ได้บอกว่าเห็นด้วยกับโมเดลเขาทั้งหมดแต่มันสะท้อนให้เห็นว่าภาคเอกชนในตะวันตกมองข้ามภาครัฐแล้วก็หาวิธีจัดการของตนเองในอุตสาหกรรมดังที่กล่าวมา

….

ส่วนช่วงบ่ายมีงานเรื่องการนำเสนอแนวปฏิบัติและคู่มือในการผลิตรายการเด็กเยาวชนและครอบครัวให้กับช่อง digital tv แต่ดึกแล้วไว้มาเล่าวันหลังนะคะ อ่านสรุปประเด็นจากการประชุมเรื่องดังกล่าววันนี้เพิ่มเติมได้ที่ TL @trio_th @NBTCrights…