กสทช.เปิดรับฟังความเห็นทีวีดิจิตอล(ร่าง) มาตรฐานการให้บริการทางโทรทัศน์เพื่อให้คนพิการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารอย่างเท่าเทียม

กสทช. เปิดรับฟังความเห็นทีวีดิจิตอลทุกช่องต่อ (ร่าง) มาตรฐานการให้บริการทางโทรทัศน์เพื่อให้คนพิการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารอย่างเท่าเทียม

           

            ทีวีดิจิตอลทุกช่อง องค์กรที่เกี่ยวกับคนพิการ และนักวิชาการ ร่วมให้ความเห็นต่อ (ร่าง) มาตรฐานการให้บริการมาตรฐานทางเทคนิค สำหรับคำบรรยายแทนเสียงและเสียงบรรยายภาพในรายการโทรทัศน์ เพื่อให้คนพิการทางหู และทางสายตา สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ความบันเทิง ในรายการต่างๆ ทางโทรทัศน์ดิจิตอลได้อย่างเท่าเทียม

วันนี้ (29 กันยายน 2559) นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์  คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)  กล่าวว่า หลังจากที่ กสทช.  ออกประกาศกำหนดหลักเกณฑ์การส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิของคนพิการให้เข้าถึงหรือรับรู้และใช้ประโยชน์จากรายการของกิจการโทรทัศน์ เริ่มใช้มาตั้งแต่วันที่ 5 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งในประกาศดังกล่าวกำหนดให้ สำนักงาน กสทช. ต้องกำหนดมาตรฐานการให้บริการ มาตรฐานด้านเทคนิค และความเหมาะสมของรูปแบบรายการโทรทัศน์ที่มีบริการล่ามภาษามือ คำบรรยายแทนเสียง  และเสียงบรรยายภาพ  เพื่อให้คนพิการทางหู และสายตา  โดยสำนักงาน กสทช. ได้จัดทำร่างมาตรฐานดังกล่าว โดยอ้างอิงผลการศึกษาเรื่องการบริการล่ามภาษามือ จากสมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทย มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทยและมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ คำบรรยายแทนเสียงจากมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต  และเสียงบรรยายภาพ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ดิฉันเข้าใจว่าการที่กำหนดให้บริการล่ามภาษามือ คำบรรยายแทนเสียง และเสียงบรรยายภาพในรายการโทรทัศน์จะเป็นภาระสำหรับทีวีดิจิตอลในแง่ของการผลิต แต่เพื่อให้ทุกคนในสังคมสามารถเข้าถึงสิทธิการรับรู้ข่าวสารได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม ทั้งนี้ช่องต่างๆ สามารถรวมตัวกันเพื่อรับการสนับสนุนด้านงบประมาณจากกองทุนฯ ได้หากต้องทำในระยะยาวและมีผู้เชี่ยวชาญที่สามารถให้คำปรึกษาได้  หากติดขัดปัญหาใดๆ สามารถสะท้อนปัญหา และขอความร่วมมือให้ช่วยกันทำเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้พิการ  เมื่อรับฟังความคิดเห็นวันนี้เสร็จแล้ว จะนำเสนอต่อ กสท. ต่อไป ” สุภิญญากล่าว

ทั้งนี้ ประกาศ กสทช.  กำหนดหลักเกณฑ์การส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิของคนพิการให้เข้าถึงหรือรับรู้และใช้ประโยชน์จากรายการของกิจการโทรทัศน์  กำหนดให้รายการโทรทัศน์ของช่องต่างๆ ต้องมีสัดส่วนบริการในรายการที่เป็นข่าวสารหรือสาระที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะภายในปี 2561 ดังนี้

(1) บริการล่ามภาษามือ (Sign Language) หรือบริการโทรทัศน์ที่จัดให้มีการบรรยายด้วยภาษามือในช่วงเวลาเดียวกับที่รายการมีเสียงพูด หรือเสียงประกอบเกิดขึ้น อย่างน้อยร้อยละ 5  แต่ไม่น้อยกว่า 60 นาที

(2) บริการคำบรรยายแทนเสียง (Closed Caption) หรือบริการโทรทัศน์ที่จัดให้มีคำบรรยาย      เป็นอักษรวิ่ง หรือตัวอักษร สัญลักษณ์ ภาพ หรือทางเลือกอื่นที่แสดงขึ้นในช่วงเวลาเดียวกับที่รายการมีเสียงพูด หรือเสียงประกอบ เกิดขึ้น และผู้รับชมสามารถเปิดหรือปิดบริการดังกล่าวด้วยตนเองได้ อย่างน้อยร้อยละ 40 แต่ไม่น้อยกว่า 180  นาที

(3) บริการเสียงบรรยายภาพ (Audio Description) หรือบริการโทรทัศน์ที่จัดให้มีคำบรรยาย      ภาพด้วยเสียงหรือจัดให้มีบริการเสียงบรรยายภาพเพิ่มเติมเป็นพิเศษในบางช่วงเวลาของรายการที่ไม่มีเสียงบรรยายตามปกติ อย่างน้อยร้อยละ 5 แต่ไม่น้อยกว่า 60 นาที

———————————-