รวมคำสงวน กรณี ทรูวิชั่นส์ยกเลิก 6 ช่อง HBO

เปิดคำสงวน กรณี ทรูวิชั่นส์ยกเลิก 6 ช่อง HBO

ในการประชุม กสท. ครั้งที่ 43/59 วันจันทร์ที่ 26 ธ.ค. 59 นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ ได้สงวนความเห็นในการพิจารณา วาระขอยกเลิกใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์เพื่อให้บริการโทรทัศน์ สำหรับกิจการที่ไม่ใช้คลื่นความถี่ของบริษัท ทรู วิชั่นส์ กรุ๊ป จำกัด จำนวน 6 ช่องรายการ ซึ่งในที่ประชุม กสท. ได้มีมติ ดังนี้ 1.อนุญาตให้บริษัท ทรู วิชั่นส์ กรุ๊ป จำกัด ผู้ใบใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ เพื่อให้บริการโทรทัศน์ สำหรับกิจการไม่ใช้คลื่นความถี่ ยกเลิกใบอนุญาตประกอบกิจการฯ ช่องรายการจำนวน 6 ช่องรายการ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม เป็นต้นไป 2.ให้ บ.ทรูฯ ดำเนินการเกี่ยวกับค่าธรรมเนียมในการประกอบกิจการกระจายเสียงแลกิจการโทรทัศน์ และแจ้งผลการดำเนินการมายังสำนักงาน กสทช. ภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้ง 3. มอบหมายให้สำนักงาน กสทช. โดยสำนักการอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์(ปส.2) มีหนังสือแจ้งเตือน กรณีที่บริษัทฯ แจ้งขอยกเลิกการประกอบกิจการฯ จำนวน 6 ช่องรายการ ดังกล่าวต่อ กสท. ล่วงหน้าน้อยกว่า 30 วัน และให้สำนักงาน กสทช. บันทึกประวัติเพื่อเป็นข้อมูลในการกำกับดูแลต่อไป และ 4.ส่วนของประเด็นเรื่องแนวทางการคุ้มครองผู้บริโภค อันเป็นผลมาจากการยกเลิกใบอนุญาตฯ มอบหมายให้คณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์นำไปพิจารณาและนำเสนอที่ประชุม กสท. ต่อไป

ทั้งนี้ นางสาวสุภิญญา ได้สงวนความเห็นพร้อมมีเหตุผล ดังนี้

“สืบเนื่องจากที่บริษัท ทรู วิชั่นส์ กรุ๊ป จำกัด ในฐานะผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียง  หรือโทรทัศน์เพื่อให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ ช่องรายการ HBO, Cinemax, HBO Signature, HBO Family, HBO Hit และ RED by HBO แจ้งความประสงค์ที่จะยุติการให้บริการและขอยกเลิกใบอนุญาต ทั้ง 6 ช่องรายการ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560 เนื่องจากบริษัทฯ ไม่สามารถบรรลุข้อตกลงทางธุรกิจกับผู้ให้บริการเนื้อหารายการช่องรายการดังกล่าวได้ โดยบริษัทจะดำเนินการประชาสัมพันธ์ให้ผู้ใช้บริการทราบถึงการยุติครั้งนี้ผ่านช่องทางต่างๆ เช่น ตัวอักษรวิ่ง(Streamer) ผ่านทางหน้าจอโทรทัศน์ ซึ่งบริษัทอยู่ในระหว่างการสรรหาช่องรายการอื่นมาเพิ่มเติมเพื่อให้บริการแก่ผู้ใช้บริการ ซึ่งคาดว่าจะสามารถดำเนินการได้ภายในไตรมาสที่ 1 ของปี 2560 รวมทั้งบริษัทมีแผนที่จะปรับปรุงคุณภาพความคมชัดของช่องรายการอีกด้วยนั้น นางสาวสุภิญญาขอสงวนความเห็นในการพิจารณาวาระนี้  โดยมีเหตุผลสนับสนุนดังต่อไปนี้

  1. กรณีการยกเลิกการให้บริการก่อนวันที่ใบอนุญาตสิ้นอายุ จะต้องแจ้งเหตุแห่งการเลิกการให้บริการพร้อมทั้งกำหนดมาตรการเยียวยาผู้ใช้บริการ ให้คณะกรรมการเห็นชอบล่วงหน้าโดยจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนดก่อนเลิกกิจการ ในกรณีนี้จะเห็นได้ว่า บริษัท ทรูวิชั่นฯ ในฐานะผู้รับใบอนุญาต ได้ส่งหนังสือตามเอกสารประกอบการพิจารณาวาระนี้ มายังสำนักงาน กสทช. เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2559  โดยประสงค์จะยกเลิกใบอนุญาตช่องรายการในวันที่ 1 มกราคม 2560 การดำเนินการของผู้รับใบอนุญาต จึงขัดกับประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตการให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์  พ.ศ.2555 ข้อ 14 (4) และขัดกับมติ กสท. ครั้งที่ 9/2557 เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2557 ซึ่งกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการแจ้งพักหรือหยุดการให้บริการว่า ให้ผู้รับใบอนุญาตแจ้งความประสงค์ต่อ กสท. ล่วงหน้าอย่างน้อย 30 วันก่อนวันที่เริ่มพักหรือหยุดการให้บริการตามที่สำนักงาน กสทช. เสนอพร้อมทั้งระบุเหตุผลการพักหรือหยุดการให้บริการ
  2. นอกจากนี้ ตามประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรฐานของสัญญาการให้บริการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิก พ.ศ. 2556 ข้อ 15 กำหนดว่า หากผู้ให้บริการประสงค์จะเปลี่ยนแปลงลักษณะ ประเภท เงื่อนไข มาตรฐานและคุณภาพในการให้บริการที่ตกลงในสัญญาหรือที่ได้โฆษณาหรือแจ้งให้ผู้ใช้บริการทราบ หรือการปรับปรุงรูปแบบการให้บริการอื่นๆ อันมีลักษณะเป็นสาระสำคัญของการให้บริการ ผู้ให้บริการมีหน้าที่แจ้งให้ผู้ใช้บริการทราบเป็นลายลักษณ์อักษรไม่น้อยกว่า 30 วันก่อนมีการเปลี่ยนแปลง ดังนั้นกรณีที่เกิดขึ้นนี้      ผู้รับใบอนุญาตจึงเข้าข่ายการไม่ปฏิบัติตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ประกาศ กสทช. ทั้งสองฉบับ และขัดกับมติ กสท. อีกด้วย
  3. การพิจารณาวาระนี้ ยังขาดองค์ประกอบสำคัญตามที่ประกาศ กสทช. กำหนด ได้แก่ มาตรการเยียวยาผู้ใช้บริการ มีเพียงการแจ้งเหตุแห่งการเลิกการให้บริการ โดยอ้างเหตุว่า ไม่สามารถบรรลุข้อตกลง   ทางธุรกิจกับผู้ให้บริการเนื้อหารายการช่องรายการดังกล่าวได้ ประกอบกับหนังสือแจ้งว่า บริษัทฯ อยู่ระหว่างการพิจารณาคัดสรรช่องรายการเพื่อนำมาทดแทนให้แก่สมาชิกผู้ใช้บริการ ดิฉันเห็นว่า การที่ กสท.พิจารณาอนุมัติให้ผู้รับใบอนุญาตยุติการให้บริการได้โดยยกเว้นการพิจารณาการกำหนดมาตรการเยียวยานั้น          อาจเข้าข่ายการใช้ดุลยพินิจโดยมิชอบและก่อให้เกิดความเสียหายให้แก่ผู้บริโภค อีกทั้งยังเป็นการเลือกปฏิบัติ เนื่องจากการขอยุติการให้บริการกรณีอื่นๆ ที่ผ่านมามีการพิจารณาทั้งการขอยกเลิกบริการและการกำหนดมาตรการเยียวยา
  4. สำหรับการอ้างเหตุเกี่ยวกับอุปสรรคในเรื่องข้อตกลงทางธุรกิจนั้น ดิฉันเห็นว่า ผู้ประกอบการย่อมต้องทราบล่วงหน้าอยู่แล้วว่า ลิขสิทธิ์ในการนำเนื้อหารายการมาออกอากาศ มีระยะเวลาเท่าใด และจะสิ้นสุดเมื่อใด ดังนั้นกรณีนี้จึงเป็นเรื่องที่ไม่มีน้ำหนักเพียงพอในการอ้างเหตุดังกล่าวว่าเป็นเรื่องสุดวิสัย

นอกจากนี้ ดิฉันยังมีความเห็นเพิ่มเติมในกรณีเรื่องลิขสิทธิ์เนื้อหารายการที่ถือเป็นหน้าที่ของผู้รับใบอนุญาตในการแจ้ง และรับรองข้อมูลเกี่ยวกับการแพร่ภาพที่ไม่มีลักษณะเป็นการขัดต่อกฎหมายว่าด้วยทรัพย์สินทางปัญญา ควรมีการเพิ่มเติมในเรื่องการแจ้งระยะเวลาที่ได้รับสิทธิ์การแพร่ภาพเนื้อหารายการหรือช่องรายการดังกล่าวด้วย”

ดาวน์โหลดคำสงวน กสท. 43-59 คลิ้กที่นี่

และในการประชุม กสท. นัดพิเศษ ครั้งที่ 6/2559  วันพฤหัสที่ 29 ธันวาคม 2559 นางสาวสุภิญญาฯ ได้ขอเปิดเผยความเห็น ในการพิจารณาวาระแผนการชดเชยเยียวยาผู้ใช้บริการ กรณีบริษัท ทรู วิชั่นส์ กรุ๊ป จำกัด ขอยกเลิกใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ เพื่อให้บริการโทรทัศน์สำหรับกิจการที่ไม่ใช้คลื่นความถี่จำนวน 6 ช่องรายการ  ซึ่ง กสท. มีมติ 1.เห็นชอบแผนเยียวยาผู้ใช้บริการเบื้องต้น ตามที่บริษัท ทรู วิชั่นส์ กรุ๊ป จำกัด เสนอจากกรณีที่ขอยกเลิกการประกอบกิจการเพื่อให้บริการโทรทัศน์ สำหรับกิจการที่ไม่ใช้คลื่นความถี่ แบบบอกรับสมาชิก ช่องรายการ HBO ช่องรายการ HBO FAMILY ช่องรายการ HBO hit ช่องรายการ HBO Signature ช่องรายการ Cinemax และช่องรายการ RED BY HBO 2.นอกจากแผนเยียวยาผู้ใช้บริการในเบื้องต้นตามข้อ 1. ให้คณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์พิจารณาและเจรจากับ บริษัท ทรูฯ เพื่อกำหนดแผนเยียวยาผู้ใช้บริการเพิ่มเติม เพื่อให้ผู้ใช้บริการได้รับการเยียวยาอย่างเป็นธรรมยิ่งขึ้น 3.ให้สำนักงาน กสทช. มีหนังสือแจ้งเตือนทางปกครอง กรณีที่บริษัททรูฯ ยื่นคำขอยกเลิกใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ เพื่อให้บริการโทรทัศน์ สำหรับกิจการไม่ใช้คลื่นความถี่ แบบบอกรับสมาชิก ช่องรายการ HBO ช่องรายการ HBO FAMILY ช่องรายการ HBO hit ช่องรายการ HBO Signature ช่องรายการ Cinemax และช่องรายการ RED BY HBO ต่อ กสท. เป็นระยะเวลาน้อยกว่า 30 วัน ซึ่งไม่เป็นไปตามเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตที่กำหนด โดยกำหนดมาตรการบังคับทางปกครองหากมีการกระทำที่ฝ่าฝืนคำสั่งเตือนดังกล่าวอีกครั้งคณะกรรมการจะกำหนดโทษทางปกครองสูงขึ้นต่อไป

ทั้งนี้ กสทช.สุภิญญา ได้ขอเปิดเผยความเห็นเพื่อบันทึกไว้ในรายงานการประชุม โดยมีรายละเอียดและเหตุผลประกอบ ดังนี้

“ดิฉันเห็นว่าการที่ กสท.  มีมติเห็นชอบแผนเยียวยาผู้ใช้บริการกรณีที่บริษัท ทรู วิชั่นส์ กรุ๊ป จำกัด ยกเลิกช่องรายการ HBO, Cinemax, HBO Signature, HBO Family, HBO Hit และ RED by HBO  ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560 ไม่เป็นไปตามเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาต ประกอบกิจการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์เพื่อให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ สำหรับกิจการที่ไม่ใช้คลื่นความถี่ ข้อ 11  ที่กำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตต้องให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ตามระยะเวลาที่คณะกรรมการอนุญาต และหากประสงค์จะเลิกการให้บริการก่อนวันที่ใบอนุญาตสิ้นอายุ จะต้องแจ้งเหตุแห่งการเลิกให้บริการพร้อมทั้งกำหนดมาตรการเยียวยาผู้ใช้บริการให้คณะกรรมการเห็นชอบล่วงหน้าก่อนเลิกกิจการโดยจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนดก่อนเลิกกิจการ   แม้ กสท. จะมีมติมอบหมายให้คณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พิจารณาและเจรจากับบริษัทฯ เพิ่มเติม เพื่อให้ผู้ใช้บริการได้รับความเป็นธรรมเพิ่มขึ้น  ดิฉันเห็นว่าควรกำหนดระยะเวลาที่ชัดเจนว่าต้องแล้วเสร็จเมื่อใด  เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับสิทธิ์การชดเชย  หรือการตัดสินใจที่จะเป็นสมาชิกต่อหรือไม่ภายในระยะเวลาที่เหมาะสม นอกจากนี้แผนเยียวยาผู้ใช้บริการที่บริษัทฯ ส่งมายังมีความหละหลวมในหลายประเด็น ช่องรายการที่นำมาทดแทนไม่คุ้มค่ากับค่าใช้จ่ายที่สมาชิกต้องจ่ายรายเดือนในราคาเดิม  เพราะมูลค่าของช่องรายการที่นำมาทดแทนถูกลงกว่าเดิม  รวมถึงต้องให้สิทธิ์กับผู้บริโภคที่มีความประสงค์จะยกเลิกโดยไม่คิดค่าปรับและค่าใช้จ่ายใดๆ  และอีกหลายประเด็นที่ยังไม่ครอบคลุมความเสียหายที่เกิดขึ้นกับการยกเลิก 6 ช่องรายการดังกล่าว”

ดาวน์โหลดคำสงวน กสท. นัดพิเศษ 6-59 คลิ้กที่นี่

ต่อมา ในการประชุม กสท. ครั้งที่ 2/2560 วันจันทร์ที่ 26 มกราคม 2560 นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ ได้สงวนความเห็นในการพิจารณา   วาระ 4.22 แผนการชดเชยเยียวยาผู้ใช้บริการ กรณี บริษัท ทรู วิชั่นส์ กรุ๊ป จำกัด ขอยกเลิกใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ เพื่อให้บริการโทรทัศน์ สำหรับกิจการที่ไม่ใช้คลื่นความถี่

“ดิฉันขอสงวนความเห็นในการพิจารณาวาระนี้ เนื่องจากเห็นว่า การที่ กสท. ยืดระยะเวลาใน
การพิจารณาข้อเสนอของคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคฯ ยังผลเสียหายต่อการคุ้มครองผู้บริโภคอย่างร้ายแรง ซึ่งดิฉันเห็นชอบตามข้อเสนอของคณะอนุกรรมการฯ ที่ให้บอร์ด กสท.พิจารณาออกคำสั่งให้บริษัทฯ จัดทำมาตรการเยียวยาผู้บริโภคเพิ่มเติมให้เป็นธรรมและครอบคลุมการคุ้มครองผู้บริโภคมิให้ถูกเอาเปรียบ
โดยให้บริษัทฯ เสนอมายัง กสท.เพื่อประกอบการพิจารณาเห็นชอบแผนเยียวยาดังกล่าวภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้ง หากฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าว จะใช้มาตรการทางปกครองกำหนดโทษปรับ วันละ 20,000 บาท ตลอดระยะเวลาที่ยังฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง และเมื่อพ้นระยะเวลาดังกล่าวแล้ว บริษัทฯ ยังคงฝ่าฝืนจะใช้มาตรการทางปกครองสั่งให้พักใช้ใบอนุญาตเป็นเวลา 7 วัน และเพิกถอนใบอนุญาตตามลำดับต่อไป

ทั้งนี้ หากพิจารณาข้อเท็จจริง ปรากฏว่า การประชุมคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคฯ
ครั้งที่ 2/2560 ในวันอังคารที่ 20 มกราคม 2560 ที่ประชุมคณะอนุกรรมการฯ ได้เชิญผู้รับใบอนุญาต ผู้บริโภคและผู้ร้องเรียน เข้าให้ความเห็นประกอบการพิจารณาวาระดังกล่าว ซึ่งเป็นไปตามมติ กสท. นัดพิเศษครั้งที่ 6/2559 ในวันพฤหัสบดีที่ 29 ธันวาคม 2559 ที่มอบหมายให้ คณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคฯ พิจารณาและเจรจากับบริษัท ทรูฯ เพื่อกำหนดแผนเยียวยาผู้ใช้บริการเพิ่มเติมเพื่อให้ผู้บริโภคได้รับความเป็นธรรมยิ่งขึ้น แต่บริษัทฯ ได้ปฏิเสธการเข้าร่วมประชุมกับคณะอนุกรรมการฯ ในวันอังคารที่ 20 มกราคม 2560  ดังนั้น การที่ กสท. มีมติให้ย้อนกลับมาพิจารณามาตรการเยียวยาฉบับเดิมในชั้นคณะอนุกรรมการฯ อีกครั้งโดยไม่มีเหตุผลอันควร และหากพบว่า บริษัท ทรูฯ ยังคงประวิงเวลาไม่มาร่วมเจรจาและยืดเยื้อไปเรื่อยๆ  เช่นนี้ต่อไป โดยไม่มีมาตรการทางปกครอง ย่อมสะท้อนความล่าช้าโดยเจตนาในการใช้ดุลพินิจของ กสท. และขาดประสิทธิภาพในการกำกับดูแล

นอกจากนี้ ดิฉันยังเห็นว่า กสท.ควรพิจารณาคำสั่งไปยังบริษัทฯ ในฐานะผู้รับใบอนุญาตช่องรายการและในฐานะผู้รับใบอนุญาตโครงข่ายฯ สำหรับกิจการที่ไม่ใช้คลื่นความถี่ ให้ระงับการดำเนินการที่มิได้แจ้งผู้ใช้บริการทราบเป็นลายลักษณ์อักษรไม่น้อยกว่า 30 วัน ก่อนมีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามข้อ 25 วรรคแรกของประกาศ กสทช. เรื่องมาตรฐานของสัญญาการให้บริการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิก พ.ศ.2556 และไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขในการให้บริการที่บริษัทได้ตกลงไว้กับผู้ใช้บริการโดยปราศจากเหตุผลอันสมควร ตามข้อ 5(7) ของประกาศ กสทช.เรื่องการกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2555 ดังนั้น กสท. จึงควรกำหนดค่าปรับทางปกครองในกรณีที่ฝ่าฝืนตามคำสั่งในอัตรา 5 ล้านบาทและปรับรายวันอีกวันละ 2 แสนบาท ตลอดระยะเวลาที่ยังไม่ปฏิบัติตามคำสั่งนั้น ซึ่งเป็นไปตามข้อ 9 ของประกาศ กสทช.เรื่องการกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคฯ และบทกำหนดโทษในมาตรา 77 แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ.2553

อนึ่ง กสท.ได้รับหนังสือจากบริษัท ทรูฯ เพื่อขอยกเลิกการให้บริการจำนวน 6 ช่องรายการ ได้แก่ ช่องรายการ HBO, Cinemax, HBO Signature, HBO Family, HBO Hit, RED by HBO เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2559 โดยบริษัทฯ ขอยกเลิกช่องรายการในวันที่ 2 มกราคม 2560 ทั้งนี้ ที่ประชุม กสท. ครั้งที่ 43/2559 เมื่อวันจันทร์ที่ 26 ธันวาคม 2559 กรรมการเสียงข้างมากเห็นชอบอนุญาตให้บริษัทฯ ยกเลิกใบอนุญาตช่องรายการทั้ง 6 ช่อง ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวไม่สอดคล้องกับประกาศ กสทช.เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ พ.ศ.2555 ข้อ 24 (5) กำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตที่ประสงค์จะเลิกการให้บริการก่อนวันที่ใบอนุญาตสิ้นอายุจะต้องแจ้งเหตุแห่งการเลิกกิจการให้บริการพร้อมทั้งกำหนดมาตรการเยียวยาผู้ให้บริการให้คณะกรรมการเห็นชอบล่วงหน้าก่อนเลิกกิจการโดยจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนดก่อนเลิกกิจการ

อย่างไรก็ตาม กสท.ได้มีการจัดประชุมนัดพิเศษครั้งที่ 6/2559 เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 29 ธันวาคม 2559 เพื่อพิจารณามาตรการเยียวยาฯ ของบริษัท ทรูฯ ที่จัดส่งมายังประธาน กสท.เมื่อวันพุธที่ 28 ธันวาคม 2559 ที่ประชุม กสท.นัดพิเศษครั้งนี้ได้เห็นชอบแผนเยียวยาผู้ใช้บริการในเบื้องต้นตามที่บริษัทฯ เสนอและ ได้มอบหมายให้คณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคฯ พิจารณาและเจรจากับบริษัท ทรูฯ เพื่อกำหนดแผนเยียวยาผู้ใช้บริการเพิ่มเติมเพื่อให้การเยียวยามีความเป็นธรรม ต่อมา ในวันอังคารที่ 20 มกราคม 2560 สำนักงานฯได้จัดการประชุมคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคฯ ครั้งที่ 2/2560 และ เชิญ ผู้ใช้บริการ/ผู้บริโภค และผู้ร้องเรียน เพื่อให้ข้อมูล  ทั้งนี้มีความเห็นโดยสรุปว่า การยกเลิกช่องรายการไม่เป็นไปตามกระบวนการที่จะต้องมีการพิจารณาแผนการชดเชยเยียวยาก่อน รวมทั้งไม่มีการชี้แจงผู้บริโภคให้ทราบเป็นการล่วงหน้าเพื่อประกอบการตัดสินใจ อีกทั้งมีข้อมูลว่า บริษัทฯ ยังคงมีการโฆษณาโดยระบุช่องรายการ HBO ในช่วงต้นเดือนธันวาคม 2559 ส่วนในแง่ของมาตรการชดเชยเยียวยาที่บริษัทฯ เสนอต่อ กสท.และที่เผยแพร่ในสื่อต่าง ๆ ผู้ร้องเรียนและผู้บริโภคยังเห็นว่าไม่ได้สัดส่วนกับผลกระทบ อาทิ ช่องรายการที่เสนอชดเชยใหม่มีคุณภาพต่ำกว่าช่องรายการเดิม , ปัญหาในเรื่องการชดเชยไม่มีความเท่าเทียมในแต่ละระดับแพ็คเกจ ระยะเวลาในการชดเชย 30 วันโดยไม่คำนึงถึงอายุสมาชิก เป็นต้น สำหรับการประชุมคณะอนุกรรมการฯ วันดังกล่าว ผู้รับใบอนุญาตได้ปฏิเสธการเข้าร่วมประชุมชี้แจง”

ดาวน์โหลดคำสงวน กสท.2-60 คลิ้กที่นี่

ต่อมา ในการประชุม กสท. ครั้งที่ 3/2560 วันจันทร์ที่ 23 มกราคม 2560 นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ ได้เปิดเผยความเห็นและสงวนความเห็นในการพิจารณาวาระ 4.7 แผนการชดเชยเยียวยาผู้ใช้บริการ กรณี บริษัท ทรู วิชั่นส์ กรุ๊ป จำกัด ขอยกเลิกใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ เพื่อให้บริการโทรทัศน์ สำหรับกิจการที่ไม่ใช้คลื่นความถี่ จำนวน 6 ช่องรายการ ดังนี้

“ดิฉันขอสงวนความเห็นในการพิจารณาวาระนี้ โดยมีเหตุผลสนับสนุนดังนี้

1. การที่ กสท.ไม่พิจารณาข้อเสนอของคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคฯ ที่ได้เสนอเข้าสู่การประชุม กสท. ทั้งสองครั้ง ได้แก่ ที่ประชุม กสท.ครั้งที่ 2/2560 และ กสท.ครั้งที่ 3/2560 นั้น ถือเป็นการประวิงเวลา
ซึ่งอาจเข้าข่ายเป็นการจงใจที่จะละเว้นการปฏิบัติหน้าที่และเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ประกอบกิจการ ซึ่ง กสทช. มีหน้าที่ตามมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ในการตรวจสอบการดำเนินการของผู้ประกอบกิจการฯ มิให้มีการดำเนินการใด ๆ ที่น่าจะเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค ทั้งนี้วาระเกี่ยวกับแผนการชดเชยเยียวยาผู้ใช้บริการ กรณี บริษัท ทรูวิชั่นส์ กรุ๊ป จำกัด ที่เสนอในการประชุม กสท. ครั้งนี้ นับเป็นครั้งที่สองในการเสนอวาระเพื่อพิจารณาอันเป็นผลสืบเนื่องมาจาก มติ กสท. ครั้งที่ 43/2559 และ มติ กสท.นัดพิเศษ
ครั้งที่ 6/2559 ซึ่งดิฉันได้เปิดเผยความเห็นตามบันทึก สทช 1003.9/001 ลงวันที่ 5 มกราคม 2560 และบันทึก สทช 1003.9/004 ลงวันที่ 9 มกราคม 2560 ทั้งนี้ มติ กสท.ครั้งที่ 43/2559 ที่ กรรมการ กสท. เสียงข้างมาก เห็นชอบให้บริษัท ทรู วิชั่นส์ฯ ยกเลิกใบอนุญาต จำนวน 6 ช่องรายการโดยที่ยังมิได้กำหนดมาตรการเยียวยาผู้ให้บริการให้คณะกรรมการเห็นชอบล่วงหน้าก่อนเลิกกิจการ ถือเป็นมติที่ไม่ได้ดำเนินการตามขั้นตอนทางกฎหมาย  และส่งผลให้การกำหนดมาตรการกำกับดูแลใด ๆ เพื่อบังคับทางปกครองหรือคุ้มครองผู้บริโภคในภายหลังไม่มีประสิทธิภาพ

2. แผนเยียวยาผู้ใช้บริการที่บริษัท ทรู วิชั่นส์ ฯ จัดส่งมายังสำนักงาน กสทช. ภายหลังจากที่มติ กสท.เห็นชอบให้ผู้รับใบอนุญาตยกเลิกช่องรายการไปแล้ว และมอบหมายให้คณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคฯ พิจารณาและเจรจากับบริษัท ทรูวิชั่นส์ฯ เพื่อกำหนดแผนเยียวยาเพิ่มเติม นั้น ดิฉันเห็นว่า เป็นขั้นตอนที่ยังประโยชน์ให้ผู้รับใบอนุญาตมีอำนาจเหนือในการกำหนดการเจรจาทั้งในแง่แผนการเยียวยาเพิ่มเติมและวันเวลาในการเจรจา ดังจะเห็นได้ว่า ผู้รับใบอนุญาตปฏิเสธการเจรจากับคณะอนุกรรมการฯ มาตั้งแต่การประชุมคณะอนุกรรมการฯ ครั้งที่ 1/2560 เมื่อวันอังคารที่ 10 มกราคม 2560 และคาดว่า ผู้รับใบอนุญาตจะมาร่วมเจรจาอีกครั้งในวันศุกร์ที่ 27 มกราคม 2560  ด้วยเหตุนี้ ดิฉันจึงเห็นสอดคล้องกับคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคฯ ที่เสนอให้ กสท.พิจารณาออกคำสั่งทางปกครองให้ บริษัท ทรู วิชั่นส์ฯ จัดส่งแผนเยียวยาเพิ่มเติมตั้งแต่ในการประชุม กสท.ครั้งที่ 2/2560 แต่ ที่ประชุม กสท. เสียงข้างมากยังยืนยันให้คณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคฯ ดำเนินการตามมติ กสท.ครั้งที่ 43/2559  และ มติ กสท.นัดพิเศษครั้งที่ 6/2559  โดยเห็นว่าจะพิจารณาวาระดังกล่าวภายหลังจากที่ผู้รับใบอนุญาตมาเจรจากับคณะอนุกรรมการฯ แล้ว”

ดาวน์โหลดคำสงวน กสท. 4-60 คลิ้กที่นี่

ต่อมา ในการประชุม กสท.  ครั้งที่ 5/2560 วันอังคารที่ 7 กุมภาพันธ์ 2560 นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ ได้เปิดเผยความเห็นในการพิจารณาหลายวาระ ดังนี้

วาระ 4.14 ความเห็นของผู้ใช้บริการทรู วิชั่นส์ ขอให้ทบทวนมติที่ประชุม กสท. ครั้งที่ 43/2559
เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2559 และมติที่ประชุม กสท.นัดพิเศษครั้งที่ 6/2559 เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2559

                      “ดิฉันสงวนความเห็นในการพิจารณาวาระนี้ เนื่องจากสนับสนุนข้อเสนอของคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ที่ได้นำส่งข้อสังเกตประกอบการพิจารณาการขอให้ทบทวนมติที่ประชุม กสท. ครั้งที่ 43/2559 และ กสท.นัดพิเศษครั้งที่ 6/2559 วันที่ 29 ธันวาคม 2559 ทั้งนี้ข้อเสนอของคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคฯ เป็นผลจากหนังสือแสดงความเห็นของผู้ใช้บริการทรู วิชั่นส์ ขอให้ทบทวนมติที่ประชุม กสท. ทั้งสองครั้งดังกล่าว  โดยหนังสือของสมาชิกรายดังกล่าว เห็นว่า การที่ กสท.มีมติอนุญาตให้ บริษัทฯ ยุติการให้บริการและยกเลิกใบอนุญาตช่องรายการกลุ่ม HBO ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และบริษัทฯ ยังมิได้ปฏิบัติตามประกาศ กสทช. เรื่องมาตรฐานของสัญญาการให้บริการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิก พ.ศ.2556 รวมทั้งมาตรการชดเชยเยียวยาผู้ใช้บริการที่บริษัทฯ เสนอยังเป็นการเอาเปรียบผู้ใช้บริการอีกด้วย

กรณีนี้ ดิฉันขอยืนตามความเห็นที่ได้สงวนความเห็นไว้ในบันทึกการประชุมทั้งสองครั้ง ตามบันทึกข้อความที่ สทช 1003.9/001 ลงวันที่ 5 มกราคม 2560 และ บันทึกข้อความที่ สทช 1003.9/004 ลงวันที่ 9 มกราคม 2560”

 

วาระ 4.15 แผนการชดเชยเยียวยาผู้ใช้บริการ กรณี บริษัท ทรู วิชั่นส์ กรุ๊ป จำกัด ขอยกเลิกใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ เพื่อให้บริการโทรทัศน์ สำหรับกิจการที่ไม่ใช้คลื่นความถี่ จำนวน 6 ช่องรายการ

                      “ดิฉันสงวนความเห็นในการพิจารณาวาระนี้ โดยมีเหตุผลสนับสนุนดังนี้

  1. 1.              ประเด็นการจัดส่งแผนเยียวยาเพิ่มเติม

                สืบเนื่องจากที่คณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคฯ ได้ดำเนินการตามคำสั่งของกสท.ครั้งที่ 3/2560 เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2560 ที่มอบหมายให้ คณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคฯ ดำเนินการตามมติที่ประชุม กสท.ครั้งที่ 43/2559 และ มติที่ประชุม กสท.นัดพิเศษครั้งที่ 6/2559 นั้น การประชุมระหว่างคณะอนุกรรมการฯ และบริษัท ทรู วิชั่นส์ฯ ได้จัดขึ้นเมื่อวันที่ 27 มกราคม 2560 ผลการประชุมครั้งนี้ บริษัท ทรู วิชั่นส์ ฯ ยืนยันมาตรการเยียวยาที่เคยผ่านการพิจารณาในการประชุม กสท. นัดพิเศษครั้งที่ 6/2559 วันที่ 29 ธันวาคม 2559 และมิได้เสนอมาตรการเยียวยาผู้ใช้บริการเพิ่มเติมแต่อย่างใด

ดิฉันเห็นว่า กรณีดังกล่าว กสท.ควรใช้แนวปฏิบัติเดียวกับที่เคยพิจารณากับผู้รับใบอนุญาตรายอื่น เช่น บริษัท จีเอ็มเอ็ม แซท จำกัด กรณี บริษัท จีเอ็มเอ็ม บี จำกัด แจ้งเปลี่ยนแปลงระบบการให้บริการแพ็กเกจ
Z PAY TV ทางกล่อง GMM Z กล่าวคือ กสท. ควรมีคำสั่งให้ ผู้รับใบอนุญาตจัดทำแผนมาตรการเยียวยาผู้บริโภคเพิ่มเติมให้เป็นธรรมและครอบคลุมการคุ้มครองผู้บริโภคมิให้ถูกเอาเปรียบภายใน 7 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง หากฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งและเมื่อพ้นระยะเวลาดังกล่าวจะใช้มาตรการทางปกครองกำหนดโทษปรับวันละ 20,000 บาท ตลอดระยะเวลาที่ยังฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งและเมื่อพ้นระยะเวลาแล้ว จะใช้มาตรการทางปกครองให้พักใช้ใบอนุญาตเป็นเวลา 7 วัน และหากยังฝ่าฝืนจะใช้มาตรการทางปกครองเพิกถอนใบอนุญาตต่อไป ทั้งนี้ ดิฉันได้เคยสงวนความเห็นในประเด็นเดียวกันนี้ในการประชุม กสท. ครั้งที่ 3/2560 เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2560 เนื่องจากเห็นว่า กสท.ควรพิจารณาคำสั่งทางปกครองตามข้อเสนอของคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคฯ ในการประชุมครั้งดังกล่าวแล้ว

  1. 2.              ประเด็น การกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค ตามมาตรา 31 แห่งพรบ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ

             กรณี ที่ผู้รับใบอนุญาตมิได้แจ้งให้ผู้ใช้บริการทราบเป็นลายลักษณ์อักษรล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 3 วันก่อนมีการเปลี่ยนแปลง ถือเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามข้อ 15 วรรคแรกของประกาศ กสทช. เรื่องมาตรฐานของสัญญาการให้บริการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิก พ.ศ.2556 และฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขในการให้บริการที่บริษัทฯ ได้ตกลงไว้กับผู้ใช้บริการโดยปราศจากเหตุผลอันสมควร ซึ่งถือเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคตามประกาศ ข้อ 5 (7) ของประกาศ กสทช.เรื่อง การกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงฯ พ.ศ.2555 ดิฉันเห็นว่า กสท.ควรมีคำสั่งตามมาตรา 31 วรรคสอง ของพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลี่นความถี่ฯ พ.ศ.2553 ไปยังผู้รับใบอนุญาต นับตั้งแต่ที่คณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคฯ และบส. ได้เสนอวาระเพื่อเข้าสู่การประชุม กสท.ครั้งที่ 2/2560 เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2560 ทั้งนี้เพื่อให้มีผลการบังคับใช้คำสั่งปรับทางปกครองหากผู้รับใบอนุญาตไม่ปฏิบัติตาม แต่การพิจารณาประเด็นการกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคกลับยังคงไม่ได้รับการพิจารณาจากที่ประชุม กสท.เรื่อยมา  ทั้งนี้ดิฉันเห็นชอบตามข้อเสนอของคณะอนุกรรมการฯ ที่เห็นสมควรกำหนดค่าปรับทางปกครองในอัตราห้าล้านบาทและปรับรายวันอีกวันละหนึ่งแสนบาท ตามมาตรา 77 แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลี่นความถี่ฯ พ.ศ.2553        อนึ่ง แผนเยียวยาผู้ใช้บริการที่บริษัท ทรู วิชั่นส์ฯ จัดส่งมายังสำนักงาน กสทช. ได้ถูกจัดส่งมายังกสทช. เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2559 ซึ่งเป็นการจัดส่งแผนเยียวยาที่เกิดขึ้นภายหลังจากที่ ที่ประชุม กสท.
ครั้งที่ 43/2559 เมื่อวันจันทร์ที่ 26 ธันวาคม 2559 ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบการยกเลิกช่องรายการจำนวน 6 ช่องรายการ และที่ประชุม กสท.นัดพิเศษครั้งที่ 6/2559 วันที่ 29 ธันวาคม 2559 ได้มีมติเห็นชอบแผนเยียวยาข้างต้นแล้ว และมอบหมายให้คณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคฯ เจรจาเพิ่มเติมกับบริษัท ทรู วิชั่นส์ ซึ่งในประเด็นนี้ ดิฉันเห็นว่า การที่ กสท. มีมติอนุญาตให้ยกเลิกช่องรายการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายนี้ เป็นอุปสรรคสำคัญในการดำเนินการเพื่อกำกับให้ผู้รับใบอนุญาตจัดทำแผนการชดเชยเยียวยาที่คุ้มครองผู้บริโภคไม่ให้ถูกเอาเปรียบจากผู้ประกอบกิจการ ดังจะเห็นได้จากการยืดระยะเวลาในการเจรจากับคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคฯ ตามที่ กสท.มอบหมายให้มาเจรจาด้วยเมื่อวันอังคารที่ 10 มกราคม 2560 และแม้ว่า ในเวลาต่อมาคือวันศุกร์ที่ 27 มกราคม 2560 ได้มีการร่วมประชุมร่วมกันระหว่างคณะอนุกรรมการฯ และผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัท ทรู วิชั่นส์ฯ ผลการประชุมพบว่า บริษัทฯ ยืนยันมาตรการเยียวยาเดิม ตามที่ได้เสนอในการประชุม กสท.นัดพิเศษครั้งที่ 6/2559 เช่นเดิม

การประชุมพิจารณาวาระเรื่องแผนการชดเชยเยียวยาผู้ใช้บริการ กรณียกเลิกช่องรายการ กลุ่ม HBO จำนวน 6 ช่องรายการนี้ ได้ถูกเลื่อนการพิจารณาในที่ประชุม กสท.หลายครั้ง ซึ่งเรื่องนี้ดิฉันได้เปิดเผยความเห็นไว้ในแล้วในการประชุม กสท.ครั้งที่ 3/2560 วันจันทร์ที่ 23 มกราคม 2560 ตามบันทึกข้อความที่ สทช 1003.9/013 วันที่ 26 มกราคม 2560 ทั้งนี้ ดิฉันเห็นว่า ความล่าช้าไม่เพียงส่งผลต่อความเชื่อมั่นในการกำกับดูแลของ กสทช. ยังเป็นการสร้างความสับสนให้กับผู้บริโภคอีกด้วย”

 

วาระ 4.16  แผนการชดเชยเยียวยาผู้ใช้บริการ กรณี บริษัท ทรู วิชั่นส์ กรุ๊ป จำกัด ขอยกเลิกใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ เพื่อให้บริการโทรทัศน์ สำหรับกิจการที่ไม่ใช้คลื่นความถี่ จำนวน 11 ช่องรายการ

             “กรณีบริษัท ทรู วิชั่นส์ กรุ๊ป จำกัด ขอยกเลิกใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ จำนวน 11 ช่องรายการ อันประกอบด้วย

  • ช่องรายการ Block A บริษัท ทรูฯ มีหนังสือถึง ลสทช. ลงวันที่ 7 เมษายน 2559 เพื่อขอยุติช่องรายการ  โดยแจ้งว่า จะยุติตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคม 2559
  • ช่องรายการ MUTV  บริษัท ทรูฯ มีหนังสือถึง ลสทช. ลงวันที่ 26 พฤษภาคม 2559 เพื่อขอยุติช่องรายการ โดยแจ้งว่า จะยุติตั้งแต่วันที่ 31 พฤษภาคม 2559
  • ช่องรายการ National Geographic, Discovery Science, DMAX, EVE, Discovery Kids, Fashion One, M, BBC Entertainment และ Cbeebies จำนวน 9 ช่อง มีหนังสือถึง ลสทช.ลงวันที่ 30 กันยายน 2559 เพื่อขอยุติช่องรายการ โดยแจ้งว่า  7 ช่องแรกจะยุติตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2559 และจำนวน 2 ช่องรายการหลัง จะยุติตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560

 

ดิฉันสงวนความเห็นในการพิจารณาวาระนี้ โดยมีเหตุผลดังต่อไปนี้

  1. จากการตรวจสอบหนังสือในการสื่อสารระหว่างผู้ประกอบการและสำนักงานฯ ตลอดจน บันทึกภายในระหว่างสำนักปส.2 และ สำนัก บส. ระหว่างเดือนตุลาคม 2559  ถึง ปลายเดือนมกราคม 2560 จนกระทั่งบรรจุเป็นวาระการประชุมคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคฯเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2560 นั้น จะเห็นได้ว่า สำนักการอนุญาตฯ ได้แจ้งมายังสำนักคุ้มครองผู้บริโภคฯ เรื่องการตรวจสอบการเผยแพร่รายการผ่านโครงข่ายของบริษัท ทรู วิชั่นส์ฯ ว่า  ไม่พบการเผยแพร่ จำนวน 8 ช่องรายการ ได้แก่ ช่องDMAX, EVE, Discovery Science, Discovery Kids, Block A, Fashion ONE, MUTV และ M (รายละเอียดตามเอกสารแนบวาระ บันทึกข้อความที่ สทช.4011/1124 วันที่ 30 ธันวาคม 2559 โดย อปส. ส่งมายัง อบส.)  ซึ่งบันทึกข้างต้นเป็นหลักฐานว่า บริษัท ทรู วิชั่นฯ ได้ยกเลิกช่องรายการอย่างน้อยจำนวน 8 ช่องรายการไปแล้ว ดังนั้น การดำเนินการของผู้รับใบอนุญาตจึงไม่เป็นไปตามแนวปฏิบัติในประกาศ หลักเกณฑ์ เงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตและมติ กสท.ที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากบริษัท ทรู วิชั่นส์ฯ เป็นผู้รับอนุญาตประกอบกิจการ แบบบอกรับสมาชิกประเภทเก็บค่าบริการล่วงหน้า (ช่องรายการ) มีหน้าที่จะต้องแจ้งความประสงค์หยุดการให้บริการต่อ กสท.ล่วงหน้าอย่างน้อย 30 วันพร้อมเสนอมาตรการเยียวยาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อผู้ใช้บริการ เพื่อให้ กสท.พิจารณาเห็นชอบก่อนการอนุญาตยกเลิกใบอนุญาตประกอบกิจการ ทั้งนี้ขั้นตอนและวิธีการได้มีการกำหนดไว้ในประกาศ กสทช.เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ พ.ศ.2555 ข้อ 14(5) และ (6), ข้อ 18(1), ข้อ 21 และ เงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์เพื่อให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ สำหรับกิจการที่ไม่ใช้คลื่นความถี่ ข้อ 11 และข้อ 13 นอกจากนี้ ที่ประชุม กสท.ครั้งที่ 8/2557 เมื่อวันจันทร์ที่ 10 มีนาคม 2557 ยังมีมติเห็นชอบหลักการในหลักเกณฑ์และวิธีการแจ้งพักหรือหยุดการให้บริการ ได้แก่ 1. กรณีที่ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการฯ มีความประสงค์จะพัก หรือหยุดการให้บริการไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนให้แจ้งความประสงค์ต่อคณะกรรมการล่วงหน้าอย่างน้อย 30 วัน ก่อนวันที่เริ่มพักหรือหยุดการให้บริการพร้อมทั้งระบุเหตุผลการพักหรือหยุดการให้บริการ 2. กรณีเป็นช่องรายการแบบบอกรับสมาชิก ผู้รับใบอนุญาตกิจการฯ จะต้องเสนอมาตรการเยียวยาผลกระทบที่จะเกิดต่อผู้ใช้บริการในลักษณะเป็นเงินค่าชดเชยหรือผลประโยชน์อื่นใดอันสามารถคำนวณเป็นตัวเงินได้แก่ผู้ใช้บริการเพื่อให้คณะกรรมการพิจารณา  ด้วยเหตุนี้ ดิฉันจึงเห็นว่า กสท.ควรพิจารณาดำเนินการตามประกาศที่เกี่ยวข้องต่อผู้รับใบอนุญาตในกรณีนี้
  2. ประเด็นเรื่องกระบวนการพิจารณายกเลิกใบอนุญาต ดิฉันและคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคฯมีข้อสังเกตว่า ขั้นตอนการขอยกเลิกใบอนุญาตจำนวน 11 ช่องรายการของบริษัท ทรู วิชั่นฯ ในกรณีนี้มีขั้นตอนที่แตกต่างจากการพิจารณาขอยกเลิกช่องรายการ กลุ่ม HBO จำนวน 6 ช่องรายการ ที่ผ่านมา กล่าวคือ กรณีช่องรายการ กลุ่ม HBO จำนวน 6 ช่องรายการ สำนักงานฯ เสนอให้บอร์ด กสท.พิจารณาการขอยกเลิกช่องรายการของผู้รับใบอนุญาตโดยมิได้มีแผนเยียวยาประกอบการพิจารณาตามประกาศกำหนด และ ในการประชุมกสท.ครั้งที่ 43/2559 กสท.เสียงข้างมากได้เห็นชอบการยกเลิกช่องรายการ ขณะที่กรณีการขอยกเลิกช่องรายการ 11 ช่องของผู้รับใบอนุญาตรายเดียวกันในที่ประชุม กสท.ครั้งนี้ กลับพบว่า สำนักงานฯ เสนอให้บอร์ด กสท.พิจารณาแผนการชดเชยเยียวยาผู้ใช้บริการ โดยที่ยังมิได้มีการพิจารณากรณีการขอยกเลิกช่องรายการ 11 ช่องดังกล่าวแต่อย่างใด ทั้งที่ในทางปฏิบัติ ผู้รับใบอนุญาตได้ยกเลิกช่องรายการดังกล่าวไปล่วงหน้าแล้ว ดิฉันจึงเห็นว่า ขั้นตอนการดำเนินการและการพิจารณาที่เกี่ยวข้องกับการขออนุญาตในกรณีต่างๆ  สำนักงานฯ ควรพิจารณาตามขั้นตอนและมีกระบวนการติดตามเพื่อให้เป็นไปตามกำหนดระยะเวลาตามประกาศที่เกี่ยวข้องด้วย
  3. กรณีการอนุญาตให้ยกเลิกการประกอบกิจการตามวันที่ผู้รับใบอนุญาตร้องขอ โดยมีผลย้อนหลังนั้น ดิฉันเห็นว่า เป็นขั้นตอนที่มีปัญหาในเรื่องการตรวจสอบการยุติการออกอากาศว่า ผู้รับใบอนุญาตดำเนินการตามวันเวลาที่ได้แจ้งไว้หรือไม่ อีกทั้งยังมีผลต่อการพิจารณาแผนเยียวยาที่ไม่สามารถกำกับและตรวจสอบความเหมาะสมของแผนเยียวยา ซึ่งเงื่อนไขเช่นนี้กำลังเกิดขึ้นกับกรณีการขอยกเลิกช่องรายการ 11 ช่องในครั้งนี้ เนื่องจาก การที่ กสท. มีมติเห็นชอบให้นำกรณีการขอยกเลิกช่องรายการเข้าสู่การประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาอนุญาตด้านกิจการโทรทัศน์ ทั้ง ๆ ที่มีหลักฐานจากเอกสารที่สื่อสารระหว่างสำนักงานฯ และผู้รับใบอนุญาต ตลอดจนผลการตรวจสอบการเผยแพร่รายการแสดงอย่างชัดเจนถึงการยุติการแพร่ภาพของช่องรายการ มติ กสท.ในครั้งนี้ สะท้อนการกำกับดูแลที่ไร้ประสิทธิภาพและอาจแสดงถึงเจตนาที่จงใจยืดระยะเวลาในการพิจารณาออกไปอีกไม่น้อยกว่าสองสัปดาห์ เนื่องจากวันจันทร์ที่ 13 กุมภาพันธ์ 2560 เป็นวันหยุดราชการ จึงงดการประชุม กสท.  การยืดเวลาเช่นนี้ย่อมเป็นเหตุให้ผู้รับใบอนุญาตอ้างได้ว่า ไม่สามารถหาหลักฐานมายืนยันได้ ดังเช่นที่ปรากฏในหนังสือของบริษัท ทรู วิชั่นส์ฯ เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2560 ที่ชี้แจงมายังสำนักงานฯ ว่า บริษัทฯ ไม่สามารถนำส่งตัวอย่างภาพการประชาสัมพันธ์การยุติการให้บริการสำหรับบางช่องรายการได้ เนื่องจากเกินระยะเวลาการจัดเก็บหลักฐานการบันทึกรายการตามประกาศ กสทช.เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตการให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ (ฉบับที่ 3) แล้ว เป็นต้น”

ดาวน์โหลดคำสงวน กสท.5-60คลิ้กที่นี่

 

ต่อมาในการประชุม กสท. ครั้งที่ 6/2560 วันจันทร์ที่ 20 กุมภาพันธ์ 2560 นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ ได้มีสงวนความเห็นในการพิจารณาวาระ 4.26 แผนการชดเชยเยียวยาผู้ใช้บริการ กรณี บริษัท ทรู วิชั่นส์ กรุ๊ป จำกัด ขอยกเลิกใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ เพื่อให้บริการโทรทัศน์ สำหรับกิจการที่ไม่ใช้คลื่นความถี่ จำนวน 6 ช่องรายการ โดยมีเหตุผลสนับสนุนดังนี้

1.ประเด็นแผนการชดเชยเยียวยาผู้ใช้บริการเพิ่มเติม : สืบเนื่องจาก มติ กสท.ครั้งที่ 5/2560
เมื่อวันอังคารที่ 7 กุมภาพันธ์ 2560  ที่ประชุมมอบหมายให้สำนักงาน กสทช.เชิญผู้แทน บริษัท ทรู วิชั่นส์ กรุ๊ป จำกัด มาชี้แจงข้อเท็จจริงต่อที่ประชุม กสท. ในครั้งนี้ เพื่อเจรจาแผนการชดเชยเยียวยาผู้ใช้บริการเพิ่มเติมกรณีการขอยกเลิกใบอนุญาตฯ ช่องรายการกลุ่ม HBO จำนวน 6 ช่องรายการ และผลการเจรจาระหว่าง กสท.กับบริษัท ทรู วิชั่นส์ ฯ เห็นชอบในการจ่ายค่าชดเชยค่าบริการตามสัดส่วนให้กับผู้ใช้บริการที่บอกยกเลิกในช่วงระหว่างวันที่ 1-25 มกราคม 2560 นั้น

ดิฉันไม่เห็นชอบแผนการชดเชยเยียวยาผู้ใช้บริการเพิ่มเติม เนื่องจากเห็นว่า มาตรการข้างต้นยังไม่ครอบคลุมหลักการชดเชยเยียวยาผู้บริโภคที่ครอบคลุมและเป็นธรรมเพียงพอกับสมาชิกทุกกลุ่ม โดยมีรายละเอียดดังนี้

1.1 ตามหลักการชดเชยเยียวยา ผู้ใช้บริการควรได้รับทราบสิทธิการชดเชยจากผู้ให้บริการเพื่อจะได้มีข้อมูลสำหรับการพิจารณา ตัดสินใจว่า จะยกเลิกการใช้บริการบอกรับสมาชิกหรือไม่ เช่นเดียวกับในขั้นตอนการโฆษณา ประชาสัมพันธ์ข้อเสนอในการบริการของเอกชน

1.2 การกำหนดระยะเวลา ผู้ใช้บริการควรได้รับการแจ้งล่วงหน้าเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ในการชดเชยเยียวยาล่วงหน้าอย่างน้อย 30 วันนับแต่วันที่ กสทช.อนุมัติแผนเยียวยาเพิ่มเติม เพื่อที่จะได้มีระยะเวลาเพียงพอที่จะศึกษาข้อมูลโดยเปรียบเทียบเพื่อตัดสินใจว่า จะยกเลิกการใช้บริการหรือไม่ แนวคิดนี้เป็นหลักการพื้นฐานอันนำมาสู่กำหนดตามข้อ 15 ของประกาศ กสทช.เรื่องมาตรฐานของสัญญาการให้บริการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิก ที่ระบุว่า ผู้ให้บริการมีหน้าที่แจ้งให้ผู้ใช้บริการทราบเป็นลายลักษณ์อักษรไม่น้อยกว่าสามสิบวันก่อนมีการเปลี่ยนแปลง

1.3 การสร้างทางเลือกให้กับผู้บริโภค ดิฉันเห็นว่า การสร้างเงื่อนไขการจ่ายค่าชดเชยค่าบริการตามสัดส่วนให้กับผู้ใช้บริการที่บอกยกเลิกในช่วงระหว่างวันที่ 1-25 มกราคม 2560 นั้น ยังไม่ครอบคลุมสมาชิกที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงยกเลิกช่องบริการ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากข้อมูลของบริษัท ทรูฯ ที่นำเสนอต่อที่ประชุม กสท.ว่า จากการบันทึกเสียงสมาชิกที่แจ้งขอยกเลิกบริการในกลุ่มนี้ระหว่างวันเวลาดังกล่าวมีอยู่ราว 1,100 ราย ดิฉันจึงเห็นว่า แผนการชดเชยเยียวยาเพิ่มเติมในครั้งนี้ได้ให้สิทธิเฉพาะสมาชิกกลุ่มเล็ก ๆ เท่านั้น และไม่ได้สร้างทางเลือกให้กับผู้บริโภคที่ยังมิได้แจ้งสิทธิเพื่อขอยกเลิกบริการซึ่งยังอีกจำนวนมากที่อาจประสงค์ในการใช้สิทธิ์รับการชดเชยเยียวยา

 

                2.ประเด็นพฤติกรรมการกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ของบริษัท ทรู วิชั่นส์ จำกัด

                ดิฉันเห็นว่า การออกคำสั่งเตือนทางปกครองแก่บริษัท ทรู วิชั่นส์ จำกัด ในกรณีที่มีพฤติกรรมการกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงฯ นั้น เป็นบทลงโทษที่ไม่ได้สัดส่วนกับการกระทำของผู้รับใบอนุญาต โดยมีเหตุผลดังนี้

2.1 บริษัท ทรูฯ มีหนังสือจำนวน 2 ฉบับ ลงวันที่ 20 ธันวาคม 2559 และ วันที่ 23 ธันวาคม 2559 เพื่อแจ้งความประสงค์ขอยกเลิกใบอนุญาตกลุ่มช่อง HBO จำนวน 6 ช่องรายการ โดยแจ้งว่าจะขอยกเลิกใบอนุญาตตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560 ซึ่งเป็นการแจ้งยกเลิกดังกล่าวน้อยกว่า 30 วัน
ตามที่ประกาศกำหนด อีกทั้งยังมิได้มีการแจ้งผู้ใช้บริการทราบเป็นลายลักษณ์อักษรล่วงหน้าน้อยกว่า 30 วันก่อนมีการเปลี่ยนแปลง ต่อมาเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2560 บริษัท ทรู ฯ ได้มีการยกเลิกการให้บริการช่องรายการทั้ง 6 ช่อง ดังนั้นการกระทำของบริษัทฯ จึงเป็นที่ประจักษ์ชัดแจ้งว่า เป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขในการให้บริการที่ได้ตกลงไว้กับผู้บริโภคโดยปราศจากเหตุผลอันสมควร ซึ่งถือเป็นการกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ตามข้อ 5(7) ของประกาศ กสทช.เรื่องการกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2555 นอกจากนี้ บริษัท ทรูฯ ในฐานะผู้ให้บริการโครงข่าย ยุติการให้บริการช่องรายการทั้ง 6 ช่อง โดยนำออกจากโครงข่าย บริษัท ทรูฯ มีหน้าที่ต้องแจ้งให้ผู้ใช้บริการทราบเป็นลายลักษณ์อักษรล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 30 วันก่อนมีการเปลี่ยนแปลงตามข้อ 15 วรรคแรกของประกาศ กสทช. เรื่องมาตรฐานของสัญญาการให้บริการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิก พ.ศ.2556  ซึ่งมิได้ดำเนินการดังกล่าว จึงถือเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขในการให้บริการที่บริษัท ฯ ได้ตกลงไว้กับผู้ใช้บริการ

2.2 ดิฉันเห็นว่า พฤติกรรมการกระทำของบริษัท ทรู ฯ เข้าข่ายการกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคตามประกาศ กสทช.ข้างต้น และ กสท.มีอำนาจสั่งระงับการดำเนินการดังกล่าวได้ตามมาตรา 31 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงฯ พ.ศ.2553 และประเด็นนี้ คณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคฯ ได้พิจารณาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายแล้ว เห็นว่า บริษัทฯ จะต้องดำเนินการชี้แจงให้ผู้ใช้บริการรับทราบถึงเหตุการณ์หยุดให้บริการโดยอาจผ่านการขึ้นอักษรวิ่งหน้าจอโทรทัศน์หรือภาพนิ่งผ่านทางโครงข่ายตลอดระยะเวลาที่พักซึ่งเป็นไปตามประกาศ กสทช. และมติ กสท.ครั้งที่ 15/2559 เมื่อวันจันทร์ที่ 16 พฤษภาคม 2559 และข้อ 15 ของประกาศ กสทช.เรื่องมาตรฐานสัญญาฯ พ.ศ.2556  ด้วยเหตุนี้ คณะอนุกรรมการฯ จึงได้เสนอความเห็นให้ กสท.พิจารณาออกคำสั่งให้บริษัทระงับการกระทำดังกล่าวตั้งแต่การประชุม กสท.ครั้งที่ 2/2560 เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2560 ทั้งนี้เพื่อให้มีผลการบังคับใช้คำสั่งปรับทางปกครองหากผู้รับใบอนุญาตไม่ปฏิบัติตาม และเห็นสมควรกำหนดค่าปรับทางปกครองในอัตราห้าล้านบาทและปรับรายวันอีกวันละหนึ่งแสนบาท ตามมาตรา 77 แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ.2553  ซึ่งในประเด็นนี้ ดิฉันได้สงวนความเห็นตามบันทึก สทช. 1003.9/021 วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2560

  1. การกำกับดูแลของ กสท.ต่อกรณีการยกเลิกกลุ่มช่องรายการ HBO 6 ช่องรายการ

หากพิจารณาการกำกับดูแลของ กสท. ต่อกรณีการยกเลิกกลุ่มช่องรายการ HBO 6 ช่องรายการ นับตั้งแต่การพิจารณากรณีดังกล่าวครั้งแรกในที่ประชุม กสท.ครั้งที่ 43/2559 เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2559 ซึ่งถือเป็นครั้งแรก จนกระทั่งถึงการประชุม กสท.ครั้งที่ 6/2560 วันจันทร์ที่ 20 กุมภาพันธ์ 2560(รายละเอียดเพิ่มเติมปรากฏตามเอกสารแนบ) ตลอดระยะเวลาดังกล่าวมีหลายขั้นตอนที่ดิฉันเห็นว่า  กสท.มิได้ดำเนินการตามขั้นตอนที่ประกาศ กสทช.กำหนด และมีความล่าช้าในการพิจารณาดำเนินการออกคำสั่งทางปกครองซึ่งส่งผลให้ผู้บริโภคสับสนและไม่ได้รับการคุ้มครองสิทธิอย่างทันท่วงที รวมทั้งอาจมีแนวทางการพิจารณาที่ข่ายเลือกปฏิบัติต่อผู้รับใบอนุญาตแต่ละรายแตกต่างกัน โดยมีรายละเอียด  ดังนี้

3.1 การประชุม กสท.ครั้งที่ 43/2559 เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2559 กรรมการ กสท.เสียงข้างมากอนุญาตให้บริษัท ทรูฯ ยกเลิกใบอนุญาตช่องรายการจำนวน 6 ช่องรายการ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560 เป็นต้นไป โดยที่บริษัทยังมิได้จัดส่งมาตรการเยียวยาผลกระทบที่จะเกิดต่อผู้ใช้บริการ  ซึ่งการใช้อำนาจของ กสท.ในการประชุมครั้งนั้น มติ กสท.ครั้งดังกล่าวได้มีการบันทึกไว้ในที่ประชุมคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคฯ ครั้งที่ 32/2559 เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2559 ว่า มติดังกล่าว ไม่สอดคล้องกับขั้นตอนและวิธีการที่กำหนดไว้ในประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ พ.ศ.2555 เงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาต และมติกสท. ซึ่งกติกาข้างต้นใช้บังคับกับผู้ประกอบกิจการทุกรายที่ขอยกเลิกใบอนุญาต เช่น บริษัท จีเอ็มเอ็ม แซท จำกัด บริษัท จีเอ็มเอ็ม บี จำกัด เป็นต้น ดิฉันเห็นว่า การที่ มติ กสท. ไม่ดำเนินการขั้นตอนตามประกาศตั้งแต่ต้น ส่งผลกระทบต่อการคุ้มครองผู้บริโภคและ
การพิจารณาแผนเยียวยาชดเชยต่อผู้บริโภค

3.2 การพิจารณาแผนการชดเชยเยียวยาผู้ใช้บริการเพิ่มเติม ได้บรรจุเข้าสู่การพิจารณา
ในที่ประชุม กสท.ครั้งที่ 2/2560 เมื่อวันจันทร์ที่ 16 มกราคม 2560 ซึ่งในการประชุมครั้งนั้น คณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคฯ เสนอให้ กสท.พิจารณาออกคำสั่งทางปกครองไปยังบริษัท ทรูฯ เพื่อจัดทำมาตรการเยียวยาเพิ่มเติม แต่วาระดังกล่าวได้เลื่อนการพิจารณาออกไปจนกระทั่งการประชุม กสท.ครั้งที่ 6/2560 เมื่อวันจันทร์ที่ 20 กุมภาพันธ์ 2560 ซึ่งดิฉันได้เปิดเผยความเห็นนี้ในบันทึก สทช.1003.9/013 วันที่ 26 มกราคม 2560 ดิฉันเห็นว่า ความล่าช้าไม่เพียงส่งผลต่อความเชื่อมั่นในการกำกับดูแลของ กสทช.ยังเป็นการสร้างความสับสนให้แก่ผู้บริโภคเนื่องจากไม่ได้รับทราบข้อมูลอย่างทันกับสถานการณ์เกี่ยวกับความคืบหน้าของแผนการชดเชยเยียวยาเพิ่มเติมที่กสทช.กำลังพิจารณา

3.3 เรื่องการกำหนดระยะเวลาในการจ่ายค่าชดเชยตามสัดส่วนแก่ผู้ใช้บริการ ในกรณียกเลิก 6 ช่องรายการครั้งนี้ พบว่า ไม่เป็นไปตามแนวปฏิบัติกับผู้รับใบอนุญาตรายอื่น เช่น กรณีแผนการชดเชยเยียวยาเพิ่มเติมแก่ผู้ใช้บริการกล่องรับสัญญาณดาวเทียมพีเอสไอ กสท.กำหนดระยะเวลาของการแจ้งขอคืนกล่องรับสัญญาณจำนวน 30 วันหลังจากที่ กสท.มีมติ กรณีแผนการชดเชยเยียวยาเพิ่มเติมแก่ผู้ใช้บริการกล่องรับสัญญาณดาวเทียม GMM Z พบว่า กำหนดระยะเวลา 30 วันนับจากวันที่ กสท.มีมติเช่นเดียวกัน ขณะที่กรณีของบริษัท ทรูฯ กลับพบว่า กสท.เลือกใช้เกณฑ์ในการกำหนดระยะเวลาที่เป็นการชดเชยย้อนหลังน้อยกว่า 30 วัน โดยไม่ได้คำนึงถึงการแจ้งให้ผู้ใช้บริการรับทราบข้อมูลสิทธิการชดเชยดังกล่าวแต่อย่างใด ซึ่งส่งผลให้มีเพียงสมาชิกบริษัท ทรูฯ ที่ได้แจ้งขอยกเลิกบริการในระหว่างวันเวลาดังกล่าวเท่านั้น ซึ่งมีจำนวนราว 1100 รายจากจำนวนทั้งหมดเกือบ 6 แสนราย ได้รับสิทธิชดเชยตามสัดส่วน ขณะที่ผู้บริโภคส่วนที่เหลือที่อาจประสงค์ขอยกเลิกการบริการไม่ได้รับการคุ้มครองในการใช้สิทธิ์ดังกล่าว

การดำเนินการขั้นตอนต่าง ๆ ของ กสท.ข้างต้น แสดงถึงการกำกับดูแลที่ล่าช้า ขาดประสิทธิภาพ และอาจเข้าข่ายเอื้อประโยชน์แก่ผู้รับใบอนุญาตบางรายรวมทั้งละเลยการปฏิบัติหน้าที่ในการคุ้มครองผู้บริโภคอย่างเป็นธรรม

ดาวน์โหลดคำสงวน กสท.6-60