ขอบเขตสื่อกับผู้ตกเป็นข่าว ความตระหนักที่ยังขาดหาย

(รายงาน)ขอบเขตสื่อกับผู้ตกเป็นข่าว ความตระหนักที่ยังขาดหาย

โดย : สิทธิชัย นครวิลัย

กรณีตัวแทนคณะทูตจากสหภาพยุโรป (เดินทางมาด้วยตัวเอง 8 ประเทศ ลงนามในหนังสือ 21 ประเทศ) เข้าพบตัวแทน 4 องค์กรวิชาชีพสื่อไทย เพื่อเรียกร้องให้สื่อมวลชนในไทยทำงานอย่างมีความรับผิดชอบในการเสนอข่าวและภาพจากคดีฆาตกรรมนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ และกรณีอื่นๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อสิทธิส่วนบุคคลของผู้เสียหาย ความรู้สึกของครอบครัวผู้เสียหาย และเคารพกระบวนการสืบสวนของเจ้าหน้าที่ เนื่องจากที่ผ่านมามีการนำเสนอเนื้อหาและภาพที่ไม่เหมาะสมซึ่งไม่เป็นประโยชน์ต่อผู้ใด

เหตุการณ์ครั้งนี้ต้องจารึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์ของวงการสื่อมวลชนไทย เนื่องจากการแสดงออกของคณะทูตที่เกิดขึ้นถือเป็น “ตัวชี้วัด” ระดับ ”สิทธิ เสรีภาพ บนความรับผิดชอบ” ของสื่อไทยกับการนำเสนอ “ข่าวอาชญากรรม ได้เป็นอย่างดี แม้ว่าประเด็นปัญหาดังกล่าวจะมีการถกเถียงและเรียกร้องกันมาทุกยุคสมัย

ยิ่งในปัจจุบันมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นกับสื่อโทรทัศน์ซึ่งนำเสนอเนื้อหาข้อมูลผ่านภาพและเสียงทำให้เข้าถึงประชาชนได้ง่ายกว่าสื่อชนิดอื่นๆ โดยมีการพัฒนาระบบส่งสัญญาณเป็นแบบ “ดิจิทัล” และมีสถานีโทรทัศน์เกิดใหม่เป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดการแข่งขันเพื่อแย่งชิงผู้ชมกันอย่างดุเดือด

ด้วยเหตุนี้จึงส่งผลต่อ “ผลิตภัณฑ์ข่าว” จำต้องแตกต่างจากข่าวหรือรายการของสถานีอื่น ทั้งด้านรูปแบบ เนื้อหา หรือความสดใหม่ เพื่อดึงดูดผู้ชมให้มากที่สุด จนหลายๆ ครั้งส่งผลให้กระบวนการผลิตละเลยหรือขาดความตระหนักถึงผลกระทบต่อสาธารณะ

จากกระแสเรียกร้องและประเด็นความรับผิดชอบของสื่อ โดยเฉพาะกับสื่อโทรทัศน์ ที่ถูกหยิบยกมาพูดถึงอีกครั้งทำให้ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จัดการสัมมนาในหัวข้อ “สิทธิผู้ตกเป็นข่าวและสิทธิการรับรู้ข่าวสาร แค่ไหน เพียงใด ในข่าวอาชญากรรม“ กระตุ้นเตือนสื่อถึงขอบเขตการนำเสนอข่าวเพื่อไม่ให้ละเมิดสิทธิของผู้อื่น

นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ คณะกรรมการ กสทช. บอกว่า ผลดีของการแข่งขันในวงการสื่อครั้งนี้ อาจกลายเป็นแรงกดดันที่ทำให้บางครั้ง สื่อเกิดความละเลยขาดความระมัดระวังจนละเมิดสิทธิผู้ตกเป็นข่าว เช่น เผยแพร่อัตตลักษณ์ผู้ต้องหาที่เป็นเยาวชน เป็นต้น

“ในแง่สิทธิการรับรู้ข่าวสาร ถือเป็นเรื่องดีที่สื่อเกาะสถานการณ์ เจาะข้อมูล แต่มันมีรายละเอียดที่ถูกละเลยจากการแข่งขัน”

เธอยกคดีฆาตกรรมนักท่องเที่ยวชาวอังกฤษบนเกาะเต่า จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นตัวอย่างสะท้อนถึงความละเลยจากสื่อมวลชนไทยได้เป็นอย่างดี ซึ่งเหตุการณ์นี้ถูกจับตาและเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์จากสังคมจนกระทั่งทำให้คณะทูตจากสหภาพยุโรป แสดงความเป็นห่วงในการนำเสนอภาพและข้อมูลในคดีที่เกิดขึ้น

นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เสริมว่า ผู้ตกเป็นข่าวโดยเฉพาะแรงงานต่างด้าวซึ่งตกเป็นผู้ต้องหาในคดีนั้นมีสิทธิส่วนตัวที่จะเผยแพร่ข้อมูลด้วยตัวเอง หรือมอบหมายให้ทนายเป็นผู้เผยแพร่ นั่นคือสิทธิของผู้ต้องหา ฉะนั้นสื่อควรระมัดระวัง ในการนำข้อมูลในสำนวนคดีมาเผยแพร่

เขาบอกอีกว่า การตามไปสัมภาษณ์ล่ามแปลภาษาก็เป็นเรื่องที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์เป็นอย่างมาก เพราะมีการตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับความขัดแย้งที่รุนแรงระหว่างเชื้อชาติและศาสนาที่เกี่ยวพันกันระหว่างล่ามแปลภาษาที่มีเชื้อสายโรฮิงญากับผู้ต้องหาที่มีเชื้อสายยะไข่ ทำให้ข้อมูลที่ได้จากการสัมภาษณ์ผ่านล่ามแปลภาษาอาจมีอคติแฝง

นพ.นิรันดร์ บอกว่า ที่ผ่านมาหลักสิทธิมนุษยชนถูกบิดเบือนมาตลอดทำให้คนในสังคมอาจยังไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้ว่าอะไรคือสิทธิที่ผู้ตกเป็นข่าว ควรได้รับการปกป้อง ดังนั้นหน้าที่ของสื่ออีกประการหนึ่งคือช่วยกันทำให้สังคมเกิดวัฒนธรรมการเรียนรู้เกี่ยวกับหลักสิทธิมนุษยชนให้มากขึ้น

“สื่อมวลชน แม้จะเป็นธุรกิจประเภทหนึ่ง แต่การที่สื่อคิดแต่จะนำเสนอเพื่อผู้บริโภคอย่างเดียว คงไม่เหมาะสม เพราะเรากำลังพูดถึงมนุษย์คนหนึ่ง ที่ถูกกล่าวหา จนทำให้ผู้ตกเป็นข่าวได้รับความเดือดร้อน และการเคารพสิทธิมนุษยชน แม้ไม่ใช่กฎหมาย แต่สื่อก็ต้องมีศีลธรรมและจรรยาบรรณที่ยึดถือ ฉะนั้นการกระทำใดที่ทำให้เกิดความเสียหาย เราต้องชดเชยและเยียวยา เพื่อแสดงความรับผิดชอบ”

นายสุรพงษ์ กองจันทึก ประธานคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชน ด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติ และผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ ระบุว่า ตามหลักของกฎหมาย ผู้ต้องหาและจำเลย ยังเป็นผู้บริสุทธิ์ จนกว่าศาลได้ตัดสินเป็นที่สุด แต่ที่ผ่านมาการนำเสนอของสื่อ เหมือนว่าพวกเขาไม่ใช่ผู้บริสุทธิ์

เขาบอกอีกว่า การบังคับให้พวกเขาทำแผนประกอบคำรับสารภาพ หรือชี้จุดเกิดเหตุ เพื่อให้สื่อบันทึกภาพนำไปเผยแพร่ นายสุรพงษ์ อธิบายว่า นั่นเท่ากับว่าบังคับให้พวกเขาเป็นคนผิดผ่านกระบวนการของสื่อ หรือจะสวมหมวกปิดหน้าเพื่อแถลงข่าว ก็ไม่ได้ เพราะเป็นการละเมิดสิทธิในฐานะที่ผู้ต้องหายังเป็นผู้บริสุทธิ์

นายสุรพงษ์ เห็นว่า กระบวนการยุติธรรมมีส่วนสำคัญเป็นอย่างมากในการปกป้องสิทธิผู้ตกเป็นข่าว ทั้งตำรวจ อัยการ และทนายความ ทุกฝ่ายต้องไม่มีธงว่าใครถูกใครผิด แล้วให้ศาลเป็นผู้ตัดสิน

“สิทธิผู้ตกเป็นข่าว โดยเฉพาะเหยื่อผู้เสียชีวิตนั้น หากมีนำเสนอข้อมูลในลักษณะอธิบายวิธีการถูกล่วงละเมิดทางเพศ ความสัมพันธ์ส่วนบุคคลของเหยื่อ การสวมใส่เสื้อ สิ่งเหล่านี้หากไม่ตรงกับข้อเท็จจริงแล้ว พวกเขาก็ไม่มีโอกาสตอบโต้สื่อได้อีกเลย”

นายสุรพงษ์ เห็นว่า อยากให้สื่อมีความเป็นอิสระที่จะนำเสนอข่าวที่สร้างสรรค์กับสังคมมากกว่านี้ เช่น นักข่าวอาชญากรรมที่คลุกคลีใกล้ชิดกับตำรวจ ทำให้เกิดความเกรงใจในการตั้งคำถามกับตำรวจในบางเรื่อง

ส่วนข้อมูลที่ได้จากแหล่งข่าว เขาเห็นว่าควรมีการตรวจสอบก่อนนำเสนอ โดยตั้งข้อสังเกตกรณีการให้สัมภาษณ์ของตำรวจที่ออกมาระบุว่า ทางการอังกฤษรู้สึกพอใจการทำคดี แต่ในความเป็นจริงยังไม่มีใครตรวจสอบว่า ข่าวนี้เป็นจริงหรือไม่ หรือเป็นเพียงการกล่าวอ้างของตำรวจไทย

หรืออย่างกรณีผู้ต้องหากลับคำให้การ ต้องเรียนว่าใครจะยืนยันได้ว่า ก่อนหน้านี้เขารับสารภาพ ทั้งๆ ที่พ่อแม่ออกมายืนยันคำพูดลูกชายว่า ไม่เคยกระทำผิด

ส่วนมุมมองที่มีต่อสื่อออนไลน์ ซึ่งมีการเผยแพร่ข้อมูลอย่างรวดเร็วนั้น นายสุรพงษ์ มองว่า เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันหาทางว่าจะควบคุมกันอย่างไร เพราะกฎหมายที่บังคับใช้ในปัจจุบัน คงไม่สามารถครอบคลุมปัญหาที่จะเกิดขึ้นได้ทั้งหมด

“หากจะมุ่งเน้นที่ตัวบทกฎหมายก็คงไม่สามารถแก้ปัญหานี้ได้ เราควรส่งเสริมให้ตระหนักในจริยธรรม และคุณธรรมมากกว่า” เขาทิ้งท้าย

……………………………………

องค์กรวิชาชีพเชื่อผู้บริโภคฟ้องทำสื่อปรับตัว

ในมุมมองของตัวแทนจากองค์กรสื่อที่เกี่ยวข้องต่อประเด็นสิทธิการรับรู้และสิทธิของผู้ตกเป็นข่าว โดยเฉพาะกับการนำเสนอข่าวและภาพข่าวอาชญากรรมนั้น ต่างก็ตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้นและพยายามหามาตรการหรือแนวทางมาช่วยแก้ปัญหา

นายปฏิวัติ วสิกชาติ คณะอนุกรรมการว่าด้วยจริยธรรมข่าววิทยุและโทรทัศน์ สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย บอกว่า ขอรับเรื่องนี้ไว้พิจารณา ซึ่งอาจจะเชิญสื่อมวลชนทุกฝ่ายทุกแขนงมาร่วมหารือในการแก้ปัญหา เพราะแสวงหาข้อเท็จจริงต้องมีขอบเขต

ด้าน นายศิโรจน์ มิ่งขวัญ นายกสมาคมนักข่าวอาชญากรรมแห่งประเทศไทย บอกว่า ทางสมาคมฯ ตระหนักดีถึงสิ่งที่หลายฝ่ายเป็นกังวลต่อการนำเสนอข่าวที่อาจละเลย ซึ่งสมาคมฯ พยายามสร้างมาตรฐานการทำงานให้มีคุณภาพตามหลักวิชาชีพ ด้วยการมอบรางวัลแก่นักข่าวที่นำเสนอข่าวที่มีคุณค่า จัดอบรมให้กับนักข่าวใหม่ ให้พวกเขามีความเข้าใจสังคม รู้เท่าทันแหล่งข่าว และมีความรอบรู้ในเชิงกฎหมาย

เขาเชื่อว่า ที่ผ่านมาผู้บริโภคได้แสดงพลังด้วยการใช้สิทธิตามกฎหมายฟ้องร้องสื่อมวลชนที่ละเมิดสิทธิกันมาแล้ว ทำให้สื่อฯ มีบทเรียนและปรับตัวได้เช่นกัน

สำหรับการนำเสนอข่าวและภาพผ่านสื่อสมัยใหม่อย่างสื่อออนไลน์หรือโซเชียลมีเดียที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนั้น นายกสมาคมนักข่าวอาชญากรรมแห่งประเทศไทย ยอมรับว่า เป็นช่องทางการรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่ทรงพลังมาก แม้แต่สื่อกระแสหลักเองก็ไม่อาจต้านทานได้

เขาบอกว่า องค์กรสื่อหรือแม้กระทั่งกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือ ไอซีที ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบโดยตรง ก็คงไม่สามารถเข้าไปควบคุมดูแลเนื้อหาหรือภาพจากสื่อประเภทนี้ได้ทั้งหมด จึงอยากให้ทุกฝ่าย รวมทั้งสังคมไทย เปิดรับและเรียนรู้ถึงข้อดีข้อเสีย รวมถึงการใช้ประโยชน์จากสื่อประเภทนี้ให้มีคุณค่าและสร้างสรรค์

ขอบคุณที่มา กรุงเทพธุรกิจออนไลน์