สุดท้ายก็คงขึ้นอยู่กับสังคมว่าอยากเห็นภาพอนาคตขององค์กร กสทช. เป็นอย่างไรต่อไป

9 ม.ค. 58

Summary of the week : ว่าด้วยผลกระทบต่อทีวีดาวเทียม /เคเบิล จากกติกาใหม่ๆของ กสทช. – การทำงานร่วมกับ อย. – เรื่องร้องเรียนรายการ *เทพเพอร์ซิอุส* ช่อง H+ และอื่นๆ ( กฏการกำหนดระดับเสียงในทีวี – หุ้นไขว้ และ พรบ.ดิจิทัล 8 ฉบับ )

 

000 000

สรุปงานสัปดาห์นี้ นอกจากประเด็นการขอใบอนุญาตช่องทีวีดิจิตอลประเภทบริการสาธารณะ ของรัฐสภาที่ยังเคาะไม่ได้แล้ว ก็เป็นเวลาของการพบปะพูดคุยกับผู้ประกอบการทีวีดาวเทียม ทั้งผู้ให้บริการโครงข่าย ช่องรายการ เคเบิลทีวีท้องถิ่น ที่ทยอยแวะเวียนมาพบเพื่อสวัสดีปีใหม่ 2558

จึงถือโอกาสได้นั่งคุยแลกเปลี่ยนถึงสภาพปัญหา อุปสรรคและข้อเสนอของผู้รับใบอนุญาตต่อการกำกับดูแลของ กสทช. และสะท้อนถึงสภาพ(ไม่)คล่องของการประกอบกิจการ สืบเนื่องจากหลายปัจจัย สรุปได้ความดังนี้

1. กระแสและการเกิดขึ้นของฟรีทีวีทีวีดิจิตอล ส่งผลต่อการชะลอยอดซื้อจานดาวเทียมและยกเลิกการเป็นสมาชิกเคเบิลลดลงอย่างเห็นได้ชัด

2. การถูก คสช. สั่งระงับการออกอากาศทีวีดาวเทียม / เคเบิล เป็นเวลาร่วม 2 เดือน และกติกาใหม่ของ กสทช. ที่ให้ทีวีดาวเทียมทั้งหมดต้องเข้ารหัส และจำกัดเวลาโฆษณาได้ชั่วโมงละ 6 นาที ส่งผลให้เกิดหนี้ทับถม การประกอบการเจออุปสรรค และการฟื้นตัวกลับมายังได้ไม่ดีนัก

3. การที่ อย. และ กสทช. เข้มงวดเรื่องการกวดขันโฆษณาอาหารเสริมที่ไม่ถูกกฎหมาย และ กำหนดให้ผู้ให้บริการโครงข่าย อย่างไทยคม หรือ เจ้าของกล่องอย่าง PSI ต้องมีการตรวจสอบความถูกต้องของการไดรับอนุญาตจาก อย.ด้วย แต่ก็ยังมีช่องที่ทำผิด ส่งผลให้หลายช่องถูกปรับรายวัน จนทำธุรกิจต่อไปไม่ไหว

4. ระยะเวลาการให้ใบอนุญาตของ กสท./กสทช. แค่ 1-2 ปี สำหรับผู้ประกอบการเคเบิลทีวี และ ทีวีดาวเทียมถือว่าสั้นเกินไป ส่งผลต่อรายเล็ก รายกลางที่ประสบความยากลำบากในการยื่นขอเงินกู้ต่อธนาคารเพราะถูกมองว่า ไม่มีความแน่นอนทางธุรกิจ

5. ขั้นตอนการขอใบอนุญาตของสำนักงาน กสทช. ค่อนข้างยุ่งยาก โดยเฉพาะเรื่องเอกสารซ้ำซ้อน ทำให้เป็นภาระของผู้ประกอบการ

ฯลฯ

ตัวแทนผู้ประกอบการกล่าวว่า ภาพรวมของกติกา กสทช. ทั้ง 5 ข้อที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อการเติบโตของทีวีดาวเทียม และ เคเบิลท้องถิ่น ทำให้ทยอยปิดตัวลงไป ซึ่งทางตัวแทนผู้ประกอบการเรียกร้องให้ กสท./กสทช. หันมาดูแลผู้รับใบอนุญาตกลุ่มนี้บ้าง ไม่ใช่ให้ความสำคัญเฉพาะ ทีวีดิจิตอล เพราะเขาบอกว่าทางช่องรายการทีวีดาวเทียม รวมถึงเคเบิลอาจจะล้มหายตายจากไป ส่วนหนึ่งเพราะเงื่อนไขจากกติกาที่เข้มขึ้น และ การมีคู่แข่งเพิ่มเป็นทีวีดิจิตอล
(ที่ประชาชนดูได้ชัดขึ้นและไม่ต้องจ่ายค่าสมาชิกรายเดือน) ดังนั้นกลุ่มผู้ประกอบการทีวีดาวเทียม ทั้งโครงข่ายและช่องรายการก็จะมายื่นข้อเสนอต่อ กสทช. เพื่อให้ช่วยแก้ปัญหาเหล่านี้ต่อไป

 

000

ฟังความจากผู้ประกอบการทีวีดาวเทียม และ เคเบิลท้องถิ่นก็เห็นใจ แต่ก็ได้อธิบายไปว่า ที่ กสทช. ต้องเร่งจัดระเบียบเคเบิลท้องถิ่น และ ทีวีดาวเทียม เพราะที่ผ่านมามีเรื่องร้องเรียนเยอะมากในเรื่องคุณภาพของเนื้อหารายการบนดาวเทียมโดยเฉพาะการโฆษณาที่ขัดกฎหมาย อย. จนวันนี้สถานการณ์ดีขึ้น แต่มันก็เลยส่งผลกระทบต่อการทำธุรกิจทีวีดาวเทียมในภาพรวม ที่อยู่ได้ยากขึ้นจนบางแห่งต้องทยอยปิดตัวเอง

อย่างไรก็ตาม ก็แจ้งกลุ่มผู้ประกอบการดาวเทียม/เคเบิลทั้งหมดไปว่า มีข้อเสนออะไรที่ กสท. อาจจะพิจารณาได้ ก็ให้รวมตัวแล้วลองยื่นมา ถ้าไม่เกินขอบเขตกฎหมาย ก็จะลองพิจารณาดู แต่ตนเองในฐานะที่ดูแลทั้งเรื่องสิทธิเสรีภาพสื่อ และ สิทธิผู้บริโภคสื่อ ก็ต้องรักษาสมดุลย์ของทั้งสองกลุ่ม คือผู้ประกอบการสื่อ และ ผู้บริโภค อีกอย่างที่ผ่านมาช่องทีวีดาวเทียม และ เคเบิลท้องถิ่นก็มีปัญหาเรื่องเนื้อหาที่โฆษณาเกินจริงเยอะมาก มันก็เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภครูปแบบหนึ่ง

ฟังวันนี้แล้วก็หนักใจ ทางหนึ่งก็เห็นใจช่องทีวีดาวเทียม และ เคเบิลท้องถิ่นที่เคยรุ่งเรือง แต่วันนี้ถูกผลกระทบจากนโยบาย กสทช. / คสช. แต่อีกมุมหนึ่งก็มีเรื่องสิทธิ์ของผู้บริโภคที่ต้องกำกับดูแล

เอาไว้จะเสนอสำนักงานจัดเวทีพูดคุยทุกฝ่าย ทั้งฝ่ายทีวีดิจิตอลที่มาแทรกตลาดใหม่ ฝ่ายทีวีดาวเทียม แล เคเบิลท้องถิ่น รวมถึงตัวแทนผู้บริโภค เพื่อสะท้อนมุมมองต่อภาพรวมอดีต ปัจจุบัน เพื่อมอง อนาคตว่าจุดสมดุลย์ควรอยู่ตรงไหน

 

000

สัปดาห์ที่ผ่านมานอกจากได้คุยกับทางไทยคม สมาคมเคเบิลทีวี สมาคมการค้าฯ ทรูวิชั่นส์ และ สมาคมทีวีดาวเทียม แล้ว ก็ยังได้คุยกับทาง สำนักงาน อย.ที่แวะมาสวัสดีปีใหม่ด้วย

แน่นอนทาง อย. ก็มีหน้าที่กำกับดูแลทีวีโฆษณาในสื่อ ร่วมกับ กสทช. ซึ่งการจับมือกันอย่างต่อเนื่องส่งผลให้ปัญหาการโฆษณายา อาหารเสริมในดาวเทียมลดน้อยลง แต่ทราบข้อเท็จจริงว่าโฆษณาอาหารเสริมทั้งหลายที่หายไปจากช่องดาวเทียม ย้ายไปอยู่ที่อินเทอร์เน็ต หรือบน social media อาทิ FB IG Line แทน

ซึ่งก็ยากต่อการกำกับดูแลจากมุมมองของ อย. ก็ไม่รู้ว่ากฎหมายเศรษฐกิจดิจิทัลทั้ง 8 ฉบับจะมาตอบโจทย์ตรงนี้ได้หรือไม่ คงต้องตามดูกลไกกันต่อไป เพราะตอนนี้อำนาจในการกำกับเนื้อหาทาง Internet ไม่ได้อยู่กับ กสทช. แต่ อยู่ภายใต้ พรบ.คอมพ์ ที่อยู่ภายใต้กระทรวงไอซีที ที่กำลังจะเปลี่ยนชื่อเป็นกระทรวง Digital Economy

 

000

พอดีได้เจอกับตัวแทนผู้บริการทีวีดาวเทียม ทั้ง True Visions / PSI จึงได้แจ้งไปแล้วว่ามีเรื่องร้องเรียนจากองค์กรผู้บริโภคฯ กรณีช่อง H+ มีโฆษณาเกินจริง โดยมีการอ้างตัวว่าเป็น *เทพเพอร์ซิอุส* ขายเครื่องรางที่อ้างการรักษาโรคต่างๆ แม้ไม่ใช่อาหาร แต่ก็เป็นอุปกรณ์ที่ถูกแอบอ้างว่าเป็นเครื่องมือทางแพทย์ในการรักษาโรค

จริงๆกรณีนี้ กสทช. เคยเตือนไปครั้งหนึ่งแล้ว ปรับตัวดีขึ้น แต่ตอนนี้กลับมาเหมือนเดิม ได้มอบให้สำนักคุ้มครองฯ ขอเทปรายการช่องดังกล่าวและจะเชิญมาชี้แจง รวมทั้งได้แจ้งโครงข่ายฯ ที่ให้ช่องดังกล่าวเช่าช่วยตรวจสอบดูแลแจ้งเตือนด้วย

เพราะถ้าค้นพบว่าความผิดทางผู้ให้บริการโครงข่ายฯจะต้องร่วมรับผิดชอบด้วย

ได้แจ้งกับ อย. แล้วว่าต้องมีการร่วมกันกำกับเรื่องนี้และต้องดึงทาง สคบ. กับองค์กรผู้บริโภคมาร่วมดูแลด้วย

ได้แจ้งกับผู้บริหาร True Visions / PSI รวมทั้งทางไทยคมให้แจ้งเตือนผู้ให้บริการช่องนี้ด้วยว่าถูกร้องเรียนและอยู่ในกระบวนการตรวจสอบ ถ้าเป็นไปได้ทางอุตสาหกรรมควรช่วยกันตักเตือนกันเองก่อน เพื่อให้เกิดการแก้ไข ก่อนที่รัฐจะต้องดำเนินการทางกฎหมาย

ความคืบหน้าเรื่องนี้จะแจ้งเพื่อทราบต่อไปค่ะ

000

มีข่าวดีบ้าง ที่กฎใหม่เรื่องแนวทางการกำกับระดับเสียงให้เท่ากันตามมาตรฐานสากล (ไม่ใช่เสียงดังผิดปรกติขึ้นมาช่วงมีโฆษณา) เพิ่งลงในราชกิจจานุเบกษาแล้ว

ทางช่องรายการมีเวลา 90 วัน ในการปรับเครื่องมืออุปกรณ์ทางเทคนิคในสอดคล้องกับกติกา กสทช. จากนั้นถ้ามีข้อร้องเรียนและผลออกมาว่าละเมิดก็จะถูกดำเนินการทางปกครองต่อไป

ส่วนร่างประกาศที่คุ้มครองคนพิการในการเข้าถึงสื่อโทรทัศน์ ขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างการทำประชาพิจารณ์ ฝากทุกท่านช่วยกันแสดงความคิดเห็นด้วยค่ะ

สำหรับร่างประกาศสำหรับการกำกับการครอบงำกิจการสื่อเพิ่มเติม กำลังรอประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา มีผลบังคับใช้แล้วจะแจ้งทันทีค่ะ

 

000

 

สัปดาห์หน้าเป็นต้นไป ประเด็นร้อนที่ต้องเจอคือเรื่องปัญหาการถือหุ้นไขว้ของกลุ่มทุน SLC ในช่องข่าว Spring News และ NMG ที่ถือหุ้นช่องข่าวเครือเนชั่น ที่อาจขัดกติกาของ กสทช. ซึ่งตอนนี้กำลังให้คณะอนุกรรมการที่ปรึกษากฎหมาย กสทช. ดูอยู่ก่อนลงมติตัดสิน

อีกทั้งเรื่องร่าง พรบ. 8 ฉบับของ คณะรัฐมนตรีที่เพิ่งผ่ามา และจะส่งผลต่อภาพรวมและการทำงานของ กสทช. ในอนาคต

กำลังศึกษาร่าง พรบ.อยู่ มีความเห็นเพิ่มเติมอย่างไรจะมาสรุปเพื่อทราบค่ะ

เวลานี้ องค์กร กสทช. ก็เหมือนเรือชนภูเขาน้ำแข็ง เราเองก็พยายามช่วยอุดรูรั่ว แต่ขณะที่เรือก็กำลังอัปปางลงเรื่อยๆ จะเรียกให้ใครมาช่วยก็ยาก เพราะคนเขาก็ไม่พอใจกับเรือลำนี้ สุดท้ายก็คงขึ้นอยู่กับสังคมว่าอยากเห็นภาพอนาคตขององค์กร กสทช. เป็นอย่างไรต่อไป

แต่เสนอว่าถ้าปัญหาเกิดจากคนก็ควรแก้ที่คน ถ้าปัญหาเกิดจากธรรมาภิบาล กสทช. เก็บรายได้ค่าธรรมเนียมต่างๆได้มากเกินไป ควรไปกำกับการใช้เงิน หรือกำหนดเพดานการใช้เงินให้ลดลง แต่ไม่ควรไปแก้หลักการเรื่องการเป็นองค์กรที่ควรอิสระจากการเมือง ย้อนยุคไประบบเดิม เพราะต่อไปรัฐบาลก็จะต้องเปลี่ยนหน้าไปตลอดเวลา

ที่สำคัญมิติของสื่อสารมวลชนมีความต่างจากโทรคมนาคมอยู่อยู่หลายประการ ควรต้องมีการพิจารณาเรื่องนี้ให้ละเอียด

ถ้าจะแก้ พรบ. กสทช. แล้วก็ควรแก้ให้ดีขึ้นไปเลยไม่ควรแก้ให้ถอยหลังกว่าเดิม รวมไปถึงเรื่องการกำกับสิออินเทอร์เน็ตในยุคดิจิทัลอีโคโนมีทั้งหมดที่เป็นนโยบายของรัฐบาลด้วย

 

000 000

รูป 1 พบกับตัวแทนสมาคมทีวีดาวเทียมวันนี้

 

รูป 2 พบกับตัวแทน อย. วันพุธ 


รูป 3 พบกับตัวแทนสมาคมเคเบิลท้องถิ่นวันจันทร์