เปิดเผยความเห็น : การอนุมัติงบประมาณรายจ่ายของสำนักงาน กสทช. ประจำปี 2559

ในการประชุม กสทช. นัดพิเศษ ครั้งที่ 1/2559 เมื่อวันอังคารที่ 16 กุมภาพันธ์ 2559 ได้มีการพิจารณาวาระที่ 5.1 การอนุมัติงบประมาณรายจ่ายของสำนักงาน กสทช. ประจำปี 2559 ซึ่ง นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ ได้เปิดเผยความเห็นในการพิจารณาวาระนี้นอกเหนือจากมติที่ประชุม ดังต่อไปนี้

“1. ดิฉันเห็นว่า การแยกงบประมาณในฝั่งสายงานกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ในส่วนค่าใช้จ่ายโครงการ ได้มีการแบ่งออกเป็นางบประจำ และงบโครงการ ขณะที่สายงานอื่นๆ ไม่พบว่ามีการแยกส่วนโครงการออกเป็นงบประจำและงบโครงการดังเช่นที่ปรากฏในสายงานกิจการกระจายเสียงฯ ทั้งนี้ดิฉันเห็นว่าการแยกงบประมาณในส่วนค่าใช้จ่ายโครงการเป็นงบประจำและงบโครงการมีลักษณะคาบเกี่ยวกัน ทำให้ไม่มีความชัดเจนถึงวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของการแยกแยะในลักษณะเช่นนี้ ยกตัวอย่าง เช่น

  • ในฝั่งสายงานกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ พบว่า  มีโครงการภายใต้ความร่วมมือเรื่องการสนับสนุนเนื้อหารายการเพื่อคุณภาพของการกระจายเสียงในประเทศออสเตรีย เยอรมนี และฝรั่งเศส วงเงิน 5 ล้านบาท ถูกจัดอยู่ภายใต้รายจ่ายอื่นของหมวดงบประจำ ขณะที่โครงการพัฒนาการใช้สื่อวิทยุกระจายเสียงเพื่อต่อต้านความรุนแรงแบบสุดโต่งในประเทศไทย ถูกจัดอยู่ภายใต้หมวดโครงการภายใต้วงเงิน 4 ล้านบาท
  •  โครงการสร้างเครือข่ายการบังคับใช้กฎหมายในการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ วงเงิน 5 ล้าน ภายใต้งบจัดการบริหารองค์กรของหมวดงบประจำ ขณะที่โครงการพัฒนาวิชาชีพในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ได้รับการจัดสรรภายใต้หมวดโครงการวงเงิน 7.4 ล้านบาท เป็นต้น

2. สำหรับภาพรวมของการจัดสรรงบประมาณรวมทั้งสิ้น 5,673.849 ล้านบาท ประกอบด้วยรายจ่ายสำหรับการดำเนินงานของ กสทช. และสำนักงาน กสทช. จำนวนเงิน 3,792.551 ล้านบาท ขณะที่ค่าใช้จ่ายโครงการ จำนวน 1,582.898 ล้านบาท  เงินงบกลางกรณีฉุกเฉินและจำเป็น 20 ล้านบาท และเงินจัดสรรเข้ากองทุน 278.4 ล้านบาท  การจัดสรรงบประมาณเช่นนี้เป็นการสะท้อนให้เห็นว่างบประมาณถูกเน้นไปที่การใช้จ่ายในการบริหารงานภายในองค์กรมากกว่าการจัดสรรงบประมาณยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนแผนแม่บท

3. ในฐานะ กสทช.ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ดิฉันมีข้อสังเกตว่า การจัดสรรงบประมาณด้านส่งเสริมเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคเป็นไปอย่างจำกัดโดยเปรียบเทียบกับภาพรวมของการจัดสรรงบ กล่าวคือ ในฝั่งกิจการกระจายเสียงฯ พบว่า โครงการส่งเสริมและสนับสนุนการรวมกลุ่มเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ระดับภูมิภาค ได้รับการจัดสรรภายใต้วงเงิน จำนวน 9.7 ล้านบาท ขณะที่การจัดสรรงบสำหรับ
ค่าจ้างที่ปรึกษาในฝั่งกิจการกระจายเสียงฯ กลับพบว่า มีวงเงินสูงถึง 105.875 ล้านบาท

4. ดิฉันเห็นว่า การจัดสรรงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับการจ้างที่ปรึกษาเพื่อทำวิจัย ควรแยกให้ชัดว่า การวิจัยเพื่อการพัฒนา (สำหรับอนาคต) กับ การดำเนินโครงการภายใต้การกำกับดูแลตามประกาศ กสทช.
โดยโครงการภายใต้การกำกับดูแลควรจัดสรรภายใต้งบประจำหรืองบโครงการเพื่อดำเนินการภารกิจนี้โดยตรง สำหรับการทำวิจัยเพื่อการพัฒนาควรเป็นโครงการที่ขอรับการสนับสนุนโดยตรงจาก กทปส. ดังนั้น ดิฉันจึงเสนอว่า การจัดสรรงบประมาณของสำนักงานในปีถัดไปควรจะต้องทำการวิเคราะห์ตั้งแต่ขั้นตอนวางแผนงบประมาณเพื่อตอบโจทย์ภารกิจด้านต่าง ๆ  เช่น การเพิ่มเจ้าหน้าที่เพื่อติดตามบุคลากรด้านกฎหมาย การดำเนินการของคอลเซ็นเตอร์ในการรับเรื่องร้องเรียน ฯลฯ ทั้งนี้เพื่อให้บรรลุภารกิจงานกำกับดูแลภายใต้ประกาศ กสทช. เป็นสำคัญ

5. ดิฉันสนับสนุนข้อสังเกตและข้อเสนอแนะของคณะอนุกรรมการพิจารณางบประมาณฯ
ทั้ง 10 ข้อ โดยเฉพาะในประเด็นงบประมาณโครงการที่ผูกพันงบประมาณข้ามปี ที่ควรมีการปรับแผนการดำเนินงานให้สอดคล้องกับการดำเนินการจริง และสนับสนุนให้เจ้าหน้าที่ของ กสทช. เป็นผู้ดำเนินการโครงการต่าง ๆ ตามอำนาจหน้าที่เพื่อการเรียนรู้และเสริมสร้างองค์ความรู้ให้กับองค์กร ทดแทนโครงการจัดจ้างที่ปรึกษา
ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญจากภายนอกเป็นหลัก ยกเว้นกรณีที่เป็นประเด็นที่ต้องอาศัยความรู้เฉพาะทางอย่างแท้จริง

6. สำนักงานฯ ควรระมัดระวังความซ้ำซ้อนของโครงการตลอดจนผู้ที่จะได้รับการว่าจ้างดำเนินการโครงการ เพื่อให้เกิดความเหมาะสมและมีการกระจายโอกาสไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนจนเข้าข่ายการว่าจ้างที่ปรึกษารายเดิมเป็นประจำทุกปี และควรควบคุมการบริหารจัดการโครงการให้ดำเนินการภายในกรอบระยะเวลาที่วางไว้ ตลอดจนคำนึงถึงการนำผลงานดังกล่าวไปใช้ประโยชน์อย่างมีประสิทธิผลและบรรลุตามเป้าหมายของแต่ละยุทธศาสตร์”

Download (Comment-NBTC-extra-1-59.pdf,PDF, Unknown)